การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเล็งเห็นการเติบโตเอสเอ็มอีไทย คาดปี 2557 โตไม่ต่ำกว่า 20-30% เพื่อรองรับการขยายตัวของเอสเอ็มอี เตรียมพื้นที่ 3 เป้าหมายตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งเป้ารองรับเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย พร้อมเตรียม 3 มาตรการสนับสนุนค่าก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท ยกเว้นค่ากำกับบริการ และประชาสัมพันธ์ในประเทศ และต่างประเทศ
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2557 จะมีสัดส่วนการเติบโตกว่า 20-30% เนื่องจากนโยบายและมาตรการการส่งเสริมของภาครัฐอย่างบูรณาการ ประกอบกับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนไม่สูง การบริหารจัดการไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับกิจการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ SMEs มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจการบริหารธุรกิจและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทั่วไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ อุตสาหกรรม SMEs ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีสัดส่วนเป็น 99.8% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ มีมูลค่า GDP ของ SMEs ปี 2555 ประมาณ 3.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่า GDP รวมของประเทศร้อยละ 37.1 และคาดว่าในปี 2556 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% โดยปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมกว่า 2,700,000 ราย
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า กนอ.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จึงมีมติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs เพื่อเป็นการสร้างกลไกการตลาดที่เหมาะสมในการดูแล SMEs ให้สมบูรณ์แบบด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ต่างๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งระบบบริหารจัดการครบวงจร อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการลดการกระจุกตัวการจ้างงานในเขตกรุงเทพฯ ไปสู่การกระจายรายได้ที่ดีมากขึ้น เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรม SME เป็นฐานการผลิตที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืนใน 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่เขตภาคกลาง เขตภาคเหนือ และเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs ในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 กิจการสำคัญ คือ (1) กิจการการผลิต (Production Sector) 23 สาขา ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม (Agricultural Processing) ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) และเหมืองแร่ (Mining) (2) กิจการบริการ (Service Sector) จำนวน 15 สาขา (3) กิจการค้าส่งและค้าปลีก (Wholesale & Retail Sector) จำนวน 1 สาขา
อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs กนอ.ได้กำหนดมาตรการ 3 ข้อเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สนใจในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs มากขึ้น ได้แก่ 1. สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท 2. ยกเว้นค่ากำกับบริการ 2 ปี โดยให้ชำระในปีที่ 5 เป็นต้นไป 3. ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ได้มีประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมSMEs ในรูปแบบร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ผู้สนใจสามารถยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2556 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิเคราะห์นโยบายและแผน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขที่ 618 ถนนนิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2253-0561 ต่อ 3305 หรือเข้าไปที่ www.ieat.go.th">www.ieat.go.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *