xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ หั่นเป้า ศก.ปี 56 เหลือโตแค่ 4.2-5.2% ยอมรับ ศก.โลก ฟื้นตัวช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาสแรกปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.3 พร้อมปรับลดแนวโน้ม GDP ตลอดทั้งปีเหลือ 4.2-5.2 แนะใช้นโยบายการเงินดูแลบาทช่วง ศก.โลกฟื้นช้า ชี้ การลดดอกเบี้ยช่วยได้ คาดครึ่งปีหลัง ศก.เสี่ยงสูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2556 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา แต่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากโครงการรถคันแรก คาดว่าจะชลอตัวในไตรมาสต่อไป
ด้านการลงทุนขยายตัวร้อยละ 6.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านการส่งออก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมาณ 56,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.5 ซึ่งขยายตัวในเกณฑ์ต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท โดยมูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทขยายตัวร้อยละ 0.5
สำหรับภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมจะเป็นไปตามภาคการส่งออก ภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.5 จากผลผลิตทางการเกษตรมีน้อยจากภาวะภัยแล้ง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 14.8 โดยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 6.8 ล้านคน และภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 10.5 เป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น
โดยสศช.ได้ปรับลดแนวโน้ม GDP ในปี 2556 จากเดิมร้อยละ 4.5 - 5.5 เป็น 4.2 - 5.2 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลก ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และล่าช้ากว่ากำหนด รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท และแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ลดต่ำลง

เลขาธิการ สศช.ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยแนะนำว่า รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาสินค้าสำคัญ บริหารจัดการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรก แก้ไขปัญหาผลกระทบผู้ประกอบการ SMEs และเร่งรัดโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และต้องแก้ปัญหาการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่มากเกินปกติ ซึ่งต้องร่วมกันทั้งมาตรการด้านการเงิน การคลัง อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการไหนเข้าของเงินทุนที่มากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น