xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.ยกเลิกแคมเปญดอกเบี้ยบ้าน 0% หวังสกัดเก็งกำไรปั่นฟองสบู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธอส.ยกเลิกแคมเปญดอกเบี้ยบ้าน 0% นาน 6 เดือนเป็นการทั่วไป หวังสกัดการเก็งกำไรคอนโดฯ ตามแนวรถไฟฟ้า ระบุให้เฉพาะลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงประสานโครงการที่ไว้ใจได้ ตั้งเป้าปล่อยแค่ 3-4 พันล้าน ส่งผล 2 เดือนสินเชื่อชะลอตัวลงชัดเจน

แหล่งข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ยกเลิกแคมเปญสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือสถาบันการเงินต่างๆ ให้เลิกแข่งขันทำแคมเปญ 0% เพื่อลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการซื้อเพื่อเก็งกำไร แต่ขณะนี้ ธอส.ยังมีแคมเปญ 0% นาน 8 เดือน ที่ธนาคารจะพิจารณาให้เฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ต้องการซื้อโครงการอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยจริง

ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อในแคมเปญดังกล่าวร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ทำโครงการขายเพื่อให้ลูกค้าซื้ออยู่อาศัยจริง เช่น โครงการของลุมพินี หรือแอลพีเอ็น ที่อยู่ตามชานเมือง ซึ่งจะมีราคาไม่แพงหลักแสน หรือล้านบาทต้นๆ โดยส่วนนี้ธนาคารจะมีวงเงินปล่อยสินเชื่อประมาณ 3-4 พันล้านบาทเท่านั้น

“ตอนนี้แคมเปญ 0%นาน 6 เดือน ที่ให้เป็นการทั่วไปได้ยกเลิกไปแล้ว จึงมีเพียงให้แคมเปญที่ให้เฉพาะกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง เพราะ ธอส.ก็มองเห็นถึงสัญญาณการซื้อโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อเก็งกำไรบ้างแล้ว โดยเฉพาะคอนโดฯ ขนาดเล็กมากๆ ตามแนวรถไฟฟ้าที่ดูแล้วไม่น่าจะอยู่อาศัยได้จริง นอกจากซื้อทิ้งไว้เพื่อเก็งกำไรหรือให้เช่า ทำให้ธนาคารจะระมัดระวังการปล่อยกู้ให้โครงการประเภทนี้มากขึ้น เพราะไม่ยอากเป็นตัวการที่ทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับแคมเปญที่ใช้ในการให้สินเชื่อขณะนี้คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี โดยปีแรกคิดที่ 3.5% และปีที่ 2 คิดที่ 4.5% โดยให้สิทธิยื่นกู้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น และต้องทำนิติกรรมภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งให้กับบุคลากรภาครัฐ และรายย่อยในโครงการจัดสรรที่ธนาคารรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาว ที่ขณะที่อัตราดอกเบี้ยปกติคิดที่เอ็มอาร์อาร์ ลบ 2% คงที่ 2 ปี หรืออยู่ที่ 5.125% ปีที่ 3 ลบ 1% ปีที่ 4 ลบ 0.5% ไปจนตลอดอายุสัญญา ขณะที่ลูกค้าสวัสดิการได้สิทธิพิเศษเอ็มอาร์อาร์ลบ 3.25% วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าสินเชื่อของธนาคารเริ่มชะลอตัวลงจากช่วงไตรมาสแรกที่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 34,116 บัญชี เป็นเงิน 27,821 ล้านบาท โดยล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเดือน เม.ย.ต่อเนื่อง พ.ค.เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวขอสินเชื่อชัดเจนขึ้น ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.2 แสนล้านบาทนั้นอาจจะค่อนข้างเหนื่อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปัญหาที่ระบบงานภายในที่ล่าช้า และลูกค้าอาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากรอแคมเปญที่ดีกว่า หรือรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะอยู่ในช่วงขาลง
กำลังโหลดความคิดเห็น