xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชี้ 4 มาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินได้ “พิชัย” แนะ ธปท. ต้องเปลี่ยนแนวคิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
“ธีระชัย” ชี้ต้นเหตุบาทแข็งต้องแก้ให้ตรงจุด มั่นใจ 4 มาตรการของ ธปท. สกัดเก็งกำไรค่าเงินได้ เพราะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่ามาตรการลดดอกเบี้ย พร้อมฝากให้ กนง.ตัดสินใจดอกเบี้ยตามข้อมูล ศก. อย่าเอนเอียงตามกระแสการเมือง “พิชัย” แนะ ธปท. ต้องเปลี่ยนแนวคิด ธนาคารกลางสามารถขาดทุนได้ เพราะหากธนาคารกลางยังขาดทุนต่อเนื่องก็จะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ

ภายในงานเสวนาเรื่อง บาทแข็งนโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันอิศรา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เปิดเผยว่า ผลจากการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง ทั้ง 3 ช่องทาง คือ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลกดดันให้าเงินบาทแข็งค่าสุ่มเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ ซึ่งตลาดพันธบัตรน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะจากการรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมา ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรเฉลี่ย 78,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือ 1 ใน 5 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบของประเทศที่อยู่ที่ 310,000 ล้านบาท

นายธีระชัย ยังเสนอวิธีการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดยหลักซึ่งมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปแทรกแซง ซึ่งเป็นวิธีการปกติที่ทำอยู่แล้ว แต่มีข้อเสียคือ ทำให้ ธปท.ขาดทุน และมองว่าการขาดทุนของแบงก์ชาติจะขาดทุน แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นได้อยู่ และรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องไปดูแล

แนวทางที่สองคือ การลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งแนวทางนี้ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นปัญหา หรือเสี่ยงทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นไปอีก และแนวทางสุดท้ายคือ การควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่แบงก์ชาติเสนอต่อกระทรวงการคลังทั้ง 4 ข้อ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ย

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ นายธีระชัย มองว่า โอกาสที่จะลด หรือไม่ลดดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับข้อมูล และตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูทั้งปัจจุบัน และอดีตที่ผ่านมาอย่างครอบคลุม หากตัวเลขเศรษฐกิจชะลอก็มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรลดดอกเบี้ยควบคู่กับการดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาท และใช้มาตรการเฉพาะในการควบคุมในภาคที่มีสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่

นอกจากนี้ ยังแนะนำว่า ธปท.ต้องเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า ธนาคารกลางสามารถขาดทุนได้ เพราะหากธนาคารกลางยังขาดทุนต่อเนื่องก็จะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ







กำลังโหลดความคิดเห็น