xs
xsm
sm
md
lg

“วรพล” เผย บมจ.เตรียมจ่อตั้งกองทุนใหม่อื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายวรพล  โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เผยบริษัทโทรคมนาคม และสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เตรียมยื่นไฟลิ่งจัดตั้งเสนอขายกองทุนเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อทั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ไฟฟ้า และประปา รองรับ AEC 2015  ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงแสวงหาพันธมิตร และทำประชาพิจารณ์ คาดรู้ผลภายในไตรมาส 4/56 นี้

นายวรพล  โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TRUE) เริ่มสนใจศึกษาแผนระดมทุนภายใต้รูปแบบการออกขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือ Infrastructure Fund เช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมา มีทั้งทีมที่ปรึกษาทางการเงินและ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้ามาปรึกษาถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนแล้ว ซึ่งเบื้องต้นสามารถจัดทำได้เช่นเดียวกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ โดยนำรายได้ในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับมาเพื่อใช้ในการลงทุนซึ่ง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เองก็มีรายได้ที่มากจากค่าเช่าเสาส่งสัญญาณโครงข่าย เป็นต้น
 

ทั้งนี้ สำหรับขนาดของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านโทรคมนาคมของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น สนใจจะออกมีความใกล้เคียงกับทาง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTSGIF) คือ ใช้ระดมทุนงบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท  โดยคาดว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น น่าจะสามารถดำเนินการยื่นไฟลิ่งออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนหลายรายสนใจออกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่หลายกอง เช่น ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ ฟาร์ม, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล (แก๊สขี้หมูจากฟาร์ม) เป็นต้น ซึ่งใช้งบลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับชุมชนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยเฉลี่ย 4-5 กิโลวัตต์ โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อโรงที่ 500 ล้านบาท กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากร และผ่านการสำรวจประชามติจากชุมชนที่อยู่รอบๆเรียบร้อยแล้ว คาดว่าส่วนหนึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ และชุมชนเองก็จะมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจ้างงาน และขายไฟฟ้าคืนให้แก่การไฟฟ้าอีกด้วย  
 

สำหรับ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) ซึ่งดำเนินธุรกิจ โซลาร์ ฟาร์ม เช่นกัน ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ส่วนหน่วยงานภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็คาดว่าจะได้เห็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้ได้ เช่น  การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ซึ่งบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันนี้ อาจจะจัดตั้งเป็นบริษัทในรูปแบบโฮลดิ้ง คอมพานี เป็นต้น เพื่อผลิตไฟฟ้าในรูปแบบทางเลือกอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือจากขยะมูลฝอย ระบบขนส่งทางราง หรือท่าเทียบเรือที่มีความทันสมัยมากขึ้น จะมีประโยชน์ และทำเงินให้มากเมื่อเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน 2558 (AEC 2015) โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังหาพันธมิตรร่วมกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น