xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง คืบ มั่นใจ 10 ปี คุ้มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - คณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการ และติดตามผลการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในโครงการ ระบุทุกกิจกรรมมีความก้าวหน้า และการลงทุนจะคุ้มทุนภายใน 8-10 ปี

วันนี้ (19 เม.ย.) นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการ และติดตามผลการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ว่าโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง เป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่ต้องการให้มีระบบการขนส่งทางรางเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ส่งเสริมการลงทุน สนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ รองรับการเปิดเสรีทางการค้า และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมของไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันในประเทศอื่นๆ เนื่องจากขาดระบบลอจิสติกส์ที่สามารถช่วยลดต้นทุน และท่าเรือน้ำลึก

“ทั้งนี้ จากการศึกษาจากแผนธุรกิจพบว่า ระบบขนส่งทางรางมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งถูกกว่าการขนส่งทางถนน ประมาณ 2 เท่า โดยจากการศึกษาความเป็นไปได้ กลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการขนส่งสินค้า จำนวน 12 โรงงานใน 4 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า มีปริมาณการส่งออกกลุ่มสินค้ายางพารา ไม้ยางพารา และปริมาณสินค้าที่ได้ดำเนินการสำรวจ ประมาณ 15,000 ตันต่อเดือน หรือ 680 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าขนส่งทางรถไฟจากศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ไปท่าเรือปีนัง ซึ่งมีต้นทุนโดยประมาณ 19,600 บาทต่อตู้ จะถูกกว่าการขนส่งรูปแบบปัจจุบันประมาณ 2,000 บาทต่อตู้ และจากตัวเลขดังกล่าว จะส่งผลให้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้รวมกว่า 159 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการลงทุนจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 8-10 ปี หรือคืนทุนได้ภายใน 7 ปีเท่านั้น” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าว

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อไปว่าโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง กำหนดก่อสร้างขึ้นที่บริเวณหมวดศิลา (รอยต่อตำบลปากแพรก และตำบลชะมาย) อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 85.43 ไร่ จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่สำหรับทางรถไฟ และถนนเลียบทางรถไฟเพื่อการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนที่ 2 พื้นที่ลานตู้คอนเทนเนอร์ ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลานวางตู้ ลานบรรจุ-ถ่ายสินค้าตู้ และลานซ่อมแซมตู้ และส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน โกดังสินค้า คลังสินค้า อาคารบรรจุ-ถ่ายสินค้าเข้า-ออกตู้ และอาคารศุลกากร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 800 ล้านบาท โดยความก้าวหน้าในงานก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการพร้อมลานคอนเทนเนอร์ การก่อสร้างมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 72 ส่วนความก้าวหน้างานสำรวจออกแบบรายละเอียดก่อสร้างศูนย์ฯ และงานก่อสร้างอื่นๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการจ้าง อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าเช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอต่อเทศบาลเมืองทุ่งสงนั้น เป็นอัตราค่าเช่าเชิงพาณิชย์ที่ค่อนข้างสูง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอใช้สิทธิพิเศษจากบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาลดอัตราค่าเช่าลงมาเป็นแบบรัฐต่อรัฐนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น