ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงกรรมาธิการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ช่วยยกระดับประเทศ เตือนการคลังแอบแฝงดันหนี้สาธารณะพุ่ง โดยเฉพาะรายจ่ายแอบแฝงนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะอาจกระทบต่อฐานะทางการคลัง จึงต้องบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า การกู้เงินสำหรับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ได้กระจายการกู้เงินในประเทศ เฉลี่ยประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 56 เงินกู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในช่วงไตรมาส 4 โดยจะส่งผลให้จีดีพีของประเทศขยายตัวร้อยละ 5.1 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.7 การลงทุนในช่วงแรกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก
จากนั้นในปี 57 วงเงินลงทุนยังไม่สูงมากนัก ทำให้ส่งผลต่อจีดีพีของประเทศเติบโตร้อยละ 5 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อรัฐบาลมีรายได้จากการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้มีเงินชำระหนี้ อาจทำให้ภาระหนี้สาธารณะเป็นไปตามที่วางกรอบไว้ แต่ ธปท. ยังกังวลรายจ่ายแอบแฝงนอกงบประมาณ เช่น ระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม และการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐช่วยเหลือเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลต้องชดเชย อาจมีภาระดังกล่าวเพิ่มเติมจนกระทบต่อฐานะทางการคลัง จึงต้องบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ
สำหรับข้อกังวลของฝ่ายค้าน จากนายกรณ์ จาติกวณิช ว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วง 50 ปีข้างหน้า อาจทำให้มีภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มนับล้านล้านบาท จากการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จนทำให้มีภาระเงินต้น และดอกเบี้ยมากกว่า 5 ล้านล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นจากร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 8-10 นั้น การกู้เงินในประเทศในโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยให้อยู่ประมาณร้อยละ 5 เป็นการอ้างอิงจากการขายพันธบัตรให้แก่กลุ่มบริษัทประกัน ด้วยอายุพันธบัตร 48 ปี จากปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.27 เพราะบริษัทประกันมีความจำเป็นต้องถือกรมธรรม์ระยะยาว ทาง ธปท.จึงเห็นด้วยกับแนวทางการดูแลอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยให้อยู่ร้อยละ 5 ในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ
เมื่อกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวแล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วงจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย แต่หากในระยะยาว เมื่อตลาดมีความกังวลว่ารัฐบาลขาดวินัยการเงินการคลังอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในยะยาวปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต แต่การออกพันธบัตรทั้งของ ธปท. และพันธบัตรของกระทรวงการคลัง ได้มีการประสานงานกันตลอดเวลา เพื่อไม่ให้มีการแย่งตลาด และช่วยกันดูแลสภาพคล่องในระบบ
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ย้ำว่า การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อต้องการดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดูแลโดยคณะกรรมการ กนง. ซึ่งเป็นดอกเบี้ยระยะสั้นแบบข้ามคืน จึงเป็นคนละส่วนกับดอกเบี้ยระยะยาว 3-5 ปี เพื่อการออกพันธบัตร และเมื่อลดดอกเบี้ยระยะสั้นลง ไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลงตามไปด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจมีความร้อนแรง เมื่อตัดสินใจลดดอกเบี้ยระยะสั้น กลับทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น เพราะมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อซึ่งได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ
แต่สิ่งที่ทำให้ตลาด และนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น หัวใจสำคัญคือ การดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ส่วนผลกำไรขาดทุนในงบดุุลของธนาคารกลาง ตลาดจะไม่คำนึงในเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะในทุกประเทศต่างขาดทุนเหมือนกัน แต่อยู่ที่ว่าสามารถดูค่าเงินให้มีเสถียรภาพ และย้ำว่า ธปท. จะทยอยนำ 4 มาตรการที่เตรียมไว้มาใช้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน