xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้กฤษฎีกาไฟเขียวกู้แค่ความเห็น ลั่นชงศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.กู้แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ส.ว.คำนูณ” สวนรัฐ ชี้กฤษฎีกาไฟเขียวกู้ไม่ขัดกฏหมายแค่ความเห็นไม่ใช่คำวินิจฉัย เผยกรรมการเขียนชัดให้ศาลชี้ขาด ลั่นชงศาลรัฐธรรมนูญฟันแน่ หวังเป็นบรรทัดฐาน พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย เหน็บทำหน้าที่ที่ต้องทำแล้วแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

วันนี้ (27 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน ตอบโต้รัฐบาลกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 เคยให้ความเห็นว่าการใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 จึงทำให้รัฐบาลปัจจุบันเดินหน้าเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยชี้ว่านั่นเป็นเพียงความเห็น ไม่ใช่คำวินิจฉัย

“ไม่ใช่ไม่รู้ครับว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 เคยให้ “ความเห็น” ว่าการใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 รู้ครับ อ่านและพิจารณามาหลายรอบแล้ว กับ “ความเห็น” เรื่องเสร็จที่ 888/2552 เมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่ผมมี “ความเห็น” เช่นกันว่า 1. ไม่ถือว่าเป็นกรณีเดียวกับกรณีร่าง พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้าเสียทั้งหมด 2. คำถามที่ ครม.ถามไปยังจำกัดอยู่ 3. ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นอย่างแคบของกฤษฎีกาที่เห็นว่า “เงินกู้ (ตามกฎหมายพิเศษ)” ไม่ใช่ “เงินแผ่นดิน” ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 โดยไปเทียบเคียงกับความในมาตรา 4 และ 6 ของพ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และสำคัญที่สุดคือ 4. นั่นคือ “ความเห็น” ไม่ใช่ “คำวินิจฉัย” ขององค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผูกพันทุกองค์กร

นายคำนูณระบุว่า ในประเด็นที่ 4 แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ระบุไว้ในท้าย “ความเห็น” เรื่องเสร็จที่ 888/2552 นี้เองว่า... “อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อหารือนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น การให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ”

“เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ผมจะพาไปให้ถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอนด้วยการเตรียมการที่จะให้ถึงพร้อมที่สุด จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 166-170 และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอีกอย่างน้อย 3 ฉบับจะยังคงมีความหมายอยู่หรือไม่ ศาลจะวินิจฉัยอย่างไรก็ยุติเท่านั้น ผมยอมรับ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำของ ส.ว.แล้ว แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม” นายคำนูณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น