xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” จ่อไล่บี้ “เต้น ไพร่เทียม” อ้างรับเงินเดือนซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.สรรหา เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ปู ตรวจสอบ รมช.พาณิชย์ รับเงินเดือน ส.ส.-รมต.ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ก่อนร้องเรียกคืนตามกฎหมาย ด้านเจ้าตัวอ้างอ้างเป็นเรื่องใหม่ โยนหน่วยงานเกี่ยวข้องชี้ขาด

วันนี้ (6 ม.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในวันที่ 7 ม.ค. จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ตรวจสอบว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ได้รับเงินได้จากรัฐสองทางที่เป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะกรณีผู้ที่มีตำแหน่งเป็นทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน ต้องเลือกรับเงินรายได้จากทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้เข้าใจว่านายณัฐวุฒิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มมาจากสองทาง คือ ในฐานะ ส.ส.เป็นเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 71,230 บาท กับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท และในฐานะรัฐมนตรีเงินเดือนในอัตราเดือนละ 72,060 บาท กับเงินประจำตำแหน่งอีกเดือนละ 41,500 บาท

ทั้งนี้ การยื่นแสดงรายได้เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ยังปรากฏอยู่ในขณะที่รับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้ง 3 ครั้ง จึงไม่น่าจะเป็นการผิดหลง อีกทั้งหน้าท้ายรายการมีการลงนามโดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.ไว้ด้วย จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบโดยหาหลักฐานการจ่ายเงินจากทำเนียบรัฐบาลกับจากสภาผู้แทนราษฎรว่ามีการจ่ายซ้ำซ้อนหรือไม่ และหากมีจะต้องเรียกคืนเงินอย่างไรหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และวินัยการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตามหลัก เงินแผ่นดิน ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ โดยสามารถนำกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอรับเงินในฐานะนายกรัฐมนตรีเพียงทางเดียว ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องมาเทียบเคียงในคำร้องได้

อีกด้านหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเดียวกัน ว่า คนที่ทำหน้าที่ ส.ส.หรือรัฐมนตรี ไม่มีความกัลวลว่าจะต้องไปรับหรือไม่รับเงินเดือนตรงไหน ถ้าบอกว่ารับได้สองทาง หรือให้รับทางใดทางหนึ่งก็ไม่ขัดข้อง แต่เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่มีการหยิบยกมา ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมาย และนายเรืองไกรก็ขยันที่จะไปยื่นเรื่องหรือไปร้องเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว กรณีนี้อยากให้ไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น