“อภิสิทธิ์” เผยอภิปรายงบฯ เรื่องประชานิยมของรัฐบาลเหลว ซัดยังกู้หนี้เพิ่ม ชี้ 2-3 ปีเกิดวิกฤตหนี้ท่วมประเทศ แถมพบความไม่โปร่งใสในงบกลาง อัดจำนำข้าวทำลายตลาด ทุจริตแหลก สวน “กิตติรัตน์-บุญทรง” ประกันราคา ปชช.ได้ประโยชน์จริง จี้ “ยิ่งลักษณ์” ทำหน้าที่นายกฯ ร่วมอภิปรายงบฯ ฟังปัญหา
วันนี้ (15 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในวาาระ2 และ 3 ว่า ภาพรวมวันนี้จะเน้นอภิปรายยอดรวมของงบประมาณทั้งหมด งบกลาง งบสำนักนายกรัฐมนตรี และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขาดวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาล ที่ตอนนี้มีโครงการประชานิยมหลายโครงการที่มีการกู้เงินมหาศาล สร้างภาระทางการคลัง และจะส่งผลให้เกิดวิกฤติหนี้ท่วมประเทศใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลยังคิดที่จะกู้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท ทั้งที่การบริหารจัดการของรัฐบาลไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทกลับมีการเบิกจ่ายไม่ถึงร้อยละ 5 ทำให้เห็นประสิทธิภาพการใช้เงินบกพร่อง นอกจากนี้จะชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสของการใช้งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ในปีที่แล้วที่ขณะนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลยังมีแนวคิดกู้เงินเพิ่มเติมเช่นนี้จะทำให้ปัญหาหนี้สินของประเทศสูงมาก รวมถึงการขาดวินัยการเงินการคลังจะกระทบต่อเสถียรภาพ และเป็นปัญหา ภายใน 1-2 ปี เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหารายได้เข้าประเทศ อีกทั้งนโยบายต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรล้มเหลวโดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนเรียกร้องให้ยกเลิก เพราะนอกจากจะขาดทุนแล้วยังเปิดช่องให้มีการทุจริต
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า นโยบายการจำนำข้าวเป็นนโยบายหนึ่งที่มีหลายฝ่ายท้วงติงในเรื่องการสร้างภาระทางการคลัง เนื่องจากการทุจริต และทำลายตลาดข้าว แต่รัฐบาลยังดึงดันเดินหน้าต่อจึงเกิดข้อสงสัยว่ามีบุคคลที่ได้ประโยชน์จากการทุจริตนโยบายจำนำข้าวหรือไม่ พร้อมตำหนินายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรเสียงบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านนั้น เป็นการเอาการประกันรายได้มาเป็นเรื่องทางการเมือง ทั้งนี้ยืนยันว่านโยบายประกันรายได้ประชาชนได้ประโยชน์จริงกว่า 4 ล้านครัวเรือน แต่นโยบายจำนำข้าวผลประโยชน์ยังไม่ตกถึงมือประชาชน
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อรับฟังการอภิปรายหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์เห็นว่าเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในการเข้าฟังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556 ในฐานะที่เป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศ แม้การประชุมวาระ 2 จะเป็นเรื่องของสมาชิกและกรรมาธิการ แต่นายกรัฐมนตรีควรมารับฟังเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข