xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

หนึ่งในเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (กฎหมายเดิม) มีหลักเกณฑ์บางประการที่ไม่ชัดเจนก่อให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมายรวมทั้งปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (กฎหมายใหม่) จึงมีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

เนื่องจากตอนที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงภาพรวมของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (กฎหมายใหม่) และส่วนที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับกฎหมายเดิมแล้ว ในตอนนี้จึงขอกล่าวถึง ข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิมโดยจะกล่าวถึงกฎหมายใหม่เป็นหลัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้

1. บทนิยาม มาตรา 4 คำศัพท์บางคำตามกฎหมายใหม่ยังเป็นคำศัพท์ตามกฎหมายเดิม แต่เปลี่ยนคำนิยาม เช่น คำว่า กิจการของรัฐ โครงการ บางคำคล้ายกับคำศัพท์ตามกฎหมายเดิม แต่คำนิยามยังเป็นไปตามกฎหมายเดิม เช่น คำว่า ร่วมลงทุน ซึ่งคล้ายกับคำว่า ร่วมงานหรือดำเนินการ ตามกฎหมายเดิม และเพิ่มคำศัพท์ใหม่บางคำพร้อมบทนิยามให้ชัดเจน เช่น คำว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน แผนยุทธศาสตร์

2. เพิ่มหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 7 ข้อ ตามมาตรา 6 เช่นต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ซึ่งกฎหมายเดิมมิได้บัญญัติถึงหลักการดังกล่าว

3. เพิ่มหมวด 2 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
กฎหมายเดิมมิได้บัญญัติถึงคณะกรรมการประเภทนี้ และกฎหมายใหม่กำหนดหลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายเดิม เช่น มาตรา 15 ซึ่งห้ามมิให้กรรมการนโยบายฯ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการหรือที่ปรึกษาในกิจการของเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบระหว่างที่ตนเป็นกรรมการหรือเข้าถือหุ้นในเอกชนดังกล่าวเกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่เข้ากรณียกเว้นเช่นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีตามมาตรา 10 และตามมาตรา 14 วรรคสี่ กรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาจะเข้าร่วมประชุมหรือออกเสียงลงคะแนนมิได้

4. เพิ่มหมวด 3 ที่ว่าด้วยรายละเอียดและขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งกฎหมายเดิมมิได้บัญญัติถึงแผนดังกล่าว

5. ปรับปรุงหมวด 4 การเสนอโครงการ (เดิมเป็นหมวด 2) ให้มีรายละเอียดที่แน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 25 หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาฯ ไม่ว่าโครงการจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม แต่กฎหมายเดิมกำหนดว่าโครงการที่มีวงเงินฯ เกินห้าพันล้านบาท ต้องว่าจ้างที่ปรึกษา มาตรา 26 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาฯ ต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ให้รัฐมนตรีฯ พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาดังกล่าว มาตรา 27 กำหนดแนวทางดำเนินการทั้งในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาผลการศึกษาฯ แล้วเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยมิได้แยกว่าเป็นโครงการใหม่หรือโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วดังเช่นกฎหมายเดิม แต่ทั้งกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิมกำหนดกรอบเวลาให้พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน มิฉะนั้นถือว่าเห็นด้วยกับโครงการและบัญญัติเพิ่ม มาตรา 28, 29, 30 เช่น มาตรา 28 เป็นกรณีที่ต้องเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือวงเงินที่จะใช้ก่อหนี้ของโครงการนั้น

6. ปรับปรุงหมวด 5 การดำเนินโครงการ (เดิมเป็นหมวด 3) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 35, 36 บัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการคัดเลือกและอำนาจหน้าที่ให้ละเอียดชัดเจนกว่ากฎหมายเดิมและบัญญัติเพิ่มหลักป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายฯ มาตรา 40, 41, 42 เป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติละเอียดชัดเจนขึ้นว่าจะดำเนินการอย่างไรหลังจากได้ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดกรอบเวลาไว้เพียงว่า ให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอผลการคัดเลือกและร่างสัญญาต่อรัฐมนตรีฯ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเก้าสิบวันนับจากวันที่คณะกรรมการตัดสิน

7. ปรับปรุงหมวด 6 การกำกับดูแลและติดตามผล (เดิมเป็นหมวด 4) ให้ละเอียดชัดเจนขึ้น เช่น มาตรา 43, 44 บัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการกำกับดูแลและอำนาจหน้าที่ให้ละเอียดชัดเจนขึ้นและเพิ่มหลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย เพิ่มมาตรา 45 ซึ่งเป็นเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการอาจต้องจัดทำแผนการจัดการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและเอกชนอาจต้องจัดทำแผนการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน มาตรา 46 วรรคหนึ่ง หากหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน ให้คณะกรรมการกำกับดูแลเสนอรัฐมนตรีฯ เพื่อสั่งการให้หน่วยงานฯ ดำเนินการตามสัญญา ซึ่งคล้ายกับกฎหมายเดิม แต่กฎหมายเดิมมิได้บัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนกฎหมายใหม่ที่ว่า “เพื่อสั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน” มาตรา 46 วรรคสอง บัญญัติเพิ่มเติมกรณีรัฐมนตรีฯ ไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการกำกับดูแลรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา หากเป็นเรื่องร้ายแรงให้คณะกรรมการนโยบายฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

8. เพิ่มหมวด 7 การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ ซึ่งกฎหมายเดิมมิได้บัญญัติถึงกรณีนี้ไว้ โดยมาตรา 47 กำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนทั้งในกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและไม่เป็นสาระสำคัญ

9. เพิ่มหมวด 8 กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ กฎหมายเดิมมิได้บัญญัติถึงกองทุนดังกล่าวไว้

10. เพิ่มหมวด 9 เบ็ดเตล็ด เพื่อกำหนดรายละเอียดในการส่งเสริมการดำเนินการตามบทบัญญัติหมวดอื่นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 64 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนและบุคคลที่ไม่สมควรเป็นที่ปรึกษาตามกฎหมายใหม่นี้

11. เพิ่มหมวด 10 บทกำหนดโทษ มาตรา 66 กรรมการนโยบายฯ กรรมการคัดเลือก กรรมการกำกับดูแลที่ฝ่าฝืนหลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายเดิมมิได้มีบทกำหนดโทษไว้

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิมเท่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ ขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการร่วมทุนระหว่างเอกชนกับรัฐส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นธรรมโปร่งใส ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จึงถือเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอประเด็นดังกล่าวในตอนต่อไป

สราวุธ เบญจกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น