“กิตติรัตน์” เผย ธปท. จัดเตรียม 4 มาตรการดูแลบาทแข็ง แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นรายงานลับ แย้มมีบางมาตรการ ธปท. สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ไม่เห็นนำมาใช้ เพราะค่าเงินบาทในขณะนี้ยังไม่ปลอดภัย โดยอยากเห็นค่าบาทอยู่เหนือ 30 บาท/ดอลลาร์ ย้ำต้องรอบคอบ และทันสถานการณ์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งมาในหนังสือตอบกลับมายังกระทรวงการคลังว่า ธปท. ได้เตรียม 4 มาตรการเพื่อดูแลปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทหากมีความจำเป็น แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในขณะนี้ โดยบางมาตรการ ธปท.สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองในทันที ขณะที่มาตรการอื่นๆ ยังต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุนเพื่อให้มาตรการเหล่านั้นพร้อมใช้งานได้
ทั้ง 4 มาตรการที่ ธปท.เสนอมา ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นรายงานลับ แต่ยืนยันว่าส่วนที่มีความพร้อม ธปท.สามารถดำเนินการไปได้เลย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีการใช้มาตรการที่มีความพร้อม ซึ่งรู้สึกเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการไหลเข้าของเงินทุน และฐานะของคลังที่เอาไปค้ำยันค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการมาตรการต่างๆ ขอให้ ธปท.ดำเนินการด้วยความรอบคอบและทันต่อสถานการณ์ เพราะก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เคยมีมติว่า การจะนำมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมาใช้ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ และหารือกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบเสียก่อน
โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง มีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่อยากให้ ธปท.ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการให้หน่วยงานใดเข้ามาช่วยให้ความเห็น เนื่องจากการดำเนินการนโยบายการเงินเป็นอำนาจของ ธปท.และการหารือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ว่าต้องไม่ใช่เป็นการส่งผ่านความรับผิดชอบให้ผู้อื่น
“เมื่อมีความเชื่อต่างกัน สิ่งที่บอร์ด กนง.เห็นเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องชั่งน้ำหนักเพราะทุกมาตรการต้องมีข้อดี และข้อเสียคู่ขนานกันไป”
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังได้สอบถามไปในหนังสือที่ส่งไปยังผู้ว่าการ ธปท.ได้แก่ ภาวะสถานะการเงินของ ธปท.นั้น ธปท.ตอบว่ามา ณ สิ้น 30 ธ.ค.55 ส่วนทุนติดลบ 5.3 แสนล้านบาท เป็นผลจากต้นทุนดอกเบี้ย และการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแสดงผลขาดทุนมากขึ้น
ส่วนประเด็นแนวคิดต่อเรื่องดอกเบี้ยนั้น ธปท.ชี้แจงว่า การลดดอกเบี้ยแม้จะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ แต่กังวลว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยรอง เนื่องจากผู้ลงทุนคาดหวังผลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท และกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า แต่ตนเองเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะควรจะต้องเอาเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเข้ามาพิจารณาประกอบกับเงินทุนไหลเข้าไหลออกด้วย จะไม่นำมาพิจารณาเลยคงไม่ได้
ส่วนประเด็นมาตรการควบคุมดูแลการไหลเข้าของเงินทุนนั้น นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า แบงก์ชาติ หรือ ธปท.ยังไม่ได้ชี้แจงมา
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ล่าสุด ได้ทำหนังสือไปยัง ธปท.อีกครั้งว่าเพื่อสอบถามปัญหาการขาดทุน 5.3 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่ ธปท.และคณะกรรมการฯ จะต้องดูแลเนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลตั้งแต่เดือน ก.ค.55 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีแผนงานใดๆ ออกมาดูแลปัญหาในจุดนี้เลย เกรงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป และไม่มีมาตรการออกมาดูแล ก็อาจจะทำให้เกิดภาระขาดทุนสะสมมากขึ้น ซึ่งทาง ธปท.น่าจะมีการทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสถานะการเงินด้วย
นอกจากนั้น นายกิตติรัตน์ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ติดตามสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่เกิดขึ้นว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างไร มาตรการใดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และมีผลความคืบหน้าอย่างไร
ในวันนี้กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาททุเลาลง มีเสถียรภาพมากขึ้น จากที่เคยลงไปต่ำกว่า 29 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้อยู่ระดับ 29 บาทกว่าๆ ว่า มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึง รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ได้รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย อีกทั้ง รมช.คลังที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ก็เป็นห่วงว่าค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้
แต่กระทรวงการคลังยังเห็นว่า การที่ค่าเงินบาทอยู่ต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้การทำงานลำบาก เนื่องจากการประเมินสถานะทางเศรษฐกิจ และการประเมินธุรกิจการค้าของผู้ส่งออกทำได้ยากลำบาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการคำนวณบนพื้นฐานค่าเงินบาทที่ไม่ต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็ทำให้การทำงานยากลำบาก
“ผมเคยพูดก่อนที่จะหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้คงทำงานยาก เพราะทุกหน่วยงานรวมถึงเอกชนก็ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตอนที่เงินบาทสูงกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินบาทขณะนี้ยังไม่ใช่ระดับที่ปลอดภัยนัก แม้สถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว”