หุ้นค้าปลีกเทรดกันสนั่นตลาด หลังดีลประวัติศาสตร์ “ซีพี” ซื้อกิจการ “แม็คโคร” มูลค่า 1.8 แสนล้าน ราคาหุ้น MAKRO พุ่ง 10.85% ส่วนราคาหุ้น CPALL ปรับลง 9.87% โบรกฯ แนะนักลงทุน อย่ารีบผลีผลามปล่อยหุ้นทิ้ง CPALL คาดปี 57 กำไรผงาด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า วันนี้ (24 เม.ย.)ได้ปลดเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO หลังจากที่ MAKRO ได้เปิดเผยสารสนเทศสำคัญครบถ้วนแล้ว รายละเอียดตามข่าวบริษัทเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควรอนุญาตให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ MAKRO โดยให้ปลดเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของ MAKRO และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่มี MAKRO เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงตั้งแต่การซื้อหรือขายรอบเช้าของวันที่ 24 เมษายน 2556 เป็นต้นไป
โดยในวันเดียวกันนี้ ตลาดฯ ได้ปลด SP หลักทรัพย์ CPALL ของบริษัท ซีพีออล์ จำกัด (มหาชน) จากที่ได้เปิดเผยสารสนเทศสำคัญครบถ้วนแล้ว รายละเอียดตามข่าวบริษัทเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควรอนุญาตให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ CPALL โดยให้ปลดเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของ CPALL และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่มี CPALL เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงตั้งแต่การซื้อหรือขายรอบเช้าของวันที่ 24 เมษายน 2556 เป็นต้นไป
ขณะที่หลังเปิดตลาดฯ วันนี้ ราคาหุ้น CPALL ราคาร่วง 3.50 บาท หรือ -8.05% ราคาล่าสุดอยู่ที่ 40.00 บาท (ข้อมูล ณ 10.53 น.) ด้าน MAKRO ราคาปรับขึ้น 78 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 11.44% อยู่ที่ 760 บาทต่อหุ้น
ล่าสุด ปิดตลาดภาคเช้า ราคาหุ้น CPALL ปิดที่ 39.25 บาท ปรับลง 4.25 บาท เปลี่ยนแปลง -9.77% ส่วนราคาหุ้น MAKRO ปิดที่ 756.00 บาท บวก 74.00 บาท เปลี่ยนแปลง 10.85%
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ราคาหุ้น CPALL ที่ปรับลดลง สวนทางหุ้น MAKRO เป็นการสะท้อนผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งคาดว่า CPALL ต้องเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในการเข้าซื้อหุ้น MAKRO และอาจจะส่งผลกระทบในด้านธุรกิจ
ทั้งนี้ กรณีซีพีออลล์ เข้าซื้อหุ้นสยามแม็คโคร ไม่ได้ถือว่าเป็นบิ๊กดีลแรกของประเทศไทย เพราะหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการเข้าซื้อหุ้นคาร์ฟูร์ ของ บิ๊กซี โดยในครั้งนั้น บิ๊กซี ก็ต้องมีการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ท่ามกลางความกังวลใจของนักลงทุนว่า บิ๊กซี จะไปรอดหรือไม่ เพราะในช่วงนั้นหลังจากปิดบิ๊กดีลแล้ว ราคาหุ้นบิ๊กซีปิดอยู่ที่ประมาณ 85 บาท แต่พอ 2 ปี ผ่านมา ราคาหุ้นของบิ๊กซีมาอยู่ยืนที่เหนือระดับราคา 200 กว่าบาท จนได้
“อยากให้นักลงทุนมองในระยะยาว และอดใจรออีกสัก 2 ปีขึ้นไป ก่อนที่จะมีการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เพราะในเวลานี้มีเสียงร่ำลือในตลาดหลักทรัพย์ฯ กันเยอะ โดยมองกันว่า กรณีการใช้เม็ดเงินกว่าแสนล้านเข้าซื้อหุ้นแม็คโครครั้งนี้ อาจจะทำให้ซีพีออลล์ ต้องเพิ่มทุนครั้งใหญ่ จะอาจจะส่งผลกระทบในด้านธุรกิจ”
ดังนั้น คงต้องดูตัวอย่างกรณี บิ๊กซี ให้นักลงทุนได้พิจารณา เพราะในเชิงธุรกิจแล้ว อย่างไรก็ควรให้เวลาได้ปรับตัวสักระยะ อีกทั้งในระยะยาวแล้วต้องไม่ลืมว่าอีกเพียงไม่กี่ปี ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ AEC ซึ่งจะมีการแข่งขันทางด้านธุรกิจที่รุนแรงจากต่างชาติแล้ว เพราะฉะนั้น ธุรกิจในประเทศจึงมีความจำเป็นต้องขยายศักยภาพ เพื่อควบคุมธุรกิจของตัวเองให้ได้
ขณะที่ราคาสำหรับเตรียมทำ Tender offer อีก 787 บาท คิดว่า คนที่ถือหุ้นสยามแม็คโครอยู่ในเวลานี้ ควรจะขายไปหรือไม่นั้น ตนเองอยากเปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ ว่า ในกรณีที่มีที่ดินสวยๆ สัก 1 แปลง หากรอให้เกิด AEC ในอีก 2 ปี ข้างหน้า ลองคิดดูว่า ที่ดินที่ถือเอาไว้นั้นราคาจะอยู่ที่เท่าไร
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (Th) แนะ “ซื้อ” CPALL โดยระบุว่า การซื้อกิจการ MAKRO โดยซื้อหุ้น MAKRO ที่ราคา 787 บาทต่อหุ้น คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นไป หากสมมติให้มีผู้มาใช้สิทธิ tender offer ที่ 50% คาดว่าในที่สุดแล้วสัดส่วนที่ CPALL ได้รับใน MAKRO เป็น 82.2% และใช้เงินทั้งหมดที่ 155 พันล้านบาท
ส่วนการที่แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า ณ ปลายปี 56 และในอนาคตก็จะทยอยลดลงเมื่อมีการชำระคืนหนี้เงินกู้
สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการซื้อกิจการคือ อำนาจในการต่อรองการสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายจาก vendors จะแข็งแกร่งมาก อีกทั้งสามารถใช้สาขาของ MAKRO ที่มีอยู่มาบริหารให้มีประสิทธิภาพ โดยสาขาที่ตั้งของ MAKRO นั้นมีทำเลที่ดี สามารถนำมาใช้เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า (DC) ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ MAKRO ในการบุกตลาดในโซนเอเชีย เพราะไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ การจะมีการรวมกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ก.ค.56 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น และประโยชน์จากการซื้อในช่วงแรกๆ จะยังไม่เห็นผลนัก จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 56 ลง 3% แต่เพิ่มกำไรสุทธิปี 57 อีก 8% เพื่อสะท้อนอัตรากำไรที่สูงขึ้น และได้รับกำไรจากการทำงบรวมกับ MAKRO เต็มปี
ทั้งนี้ ปรับลดราคาพื้นฐานลงเป็น 51 บาทต่อหุ้น สะท้อนการปรับลดประมาณการปี 56 และประเมินด้วย PEG ปี 56 ที่ 1.2 เท่า สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้น CPALL ก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลงจากความกังวลว่าจะมีการเพิ่มทุนมาซื้อ MAKRO แต่มาถึงวันนี้ก็ไม่เรื่องเพิ่มทุน เมื่อได้สะท้อนเรื่อง synergies ที่เกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่สูง ราคาปิดมีส่วนเพิ่มเทียบกับราคาพื้นฐานใหม่ได้อีก 17%
ด้านบทวิเคราะห์จาก บล.เกียรตินาคิน แนะนำ “ซื้อ” CPALL เช่นกัน โดยปรับราคาเป้าหมายเพิ่มเป็น 63.00 บาท แม้ซื้อ MAKRO แพงกว่ามูลค่าทางบัญชีหุ้น MAKRO ถึง 18 เท่า และสูงกว่าราคาตลาด 15% แต่ระยะยาวเรามีมุมมอง “บวก” ต่อโอกาสเติบโตโดยเฉพาะผลจากการประหยัดต่อขนาด การใช้ประโยชน์ร่วมกันจากระบบกระจายสินค้า และโอกาสขยายสาขาต่างประเทศ
การซื้อกิจการครั้งนี้ของ CPALL อาศัยจุดแข็งจากสถานะ Debt free และหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุน โดยบริษัทจะกู้เงินราว 90% ของมูลค่าการซื้อกิจการทั้งหมด หรือประมาณ 170,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 10% ใช้กระแสเงินสดที่มีประมาณ 20,000 ล้านบาท เราประเมินอิงสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ต่อปี คาดว่า CPALL มีภาระค่าใช้จ่ายการเงินเพิ่มราว 5,100 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วน D/E และ Net debt / EBITDA ปีนี้จะเพิ่มเป็น 5.8 เท่า และ 3.9 เท่าตามลำดับ
เราประเมินผลประกอบการ CPALL หลังรวมกิจการ MAKRO อิงสมมติฐานยอดขายต่อปีของ MAKRO เติบโต 10% อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 8.5% ส่วน CPALL ใช้สมมติฐานประมาณการเดิม โดยปีนี้คาดจะมีกำไรสุทธิ 12,915 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.44 บาท ดีขึ้น 4% จากประมาณการก่อนรวมกิจการ ซึ่งเท่ากับการควบรวมจะเกิด Synergy บนประมาณการเรา และคาดว่าผลบวกจากการควบรวมจะเริ่มเห็นเต็มปี 2557 เป็นต้นไป ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2556-2558 ของ CPALL จะเติบโตเฉลี่ย 24% (CAGR 2556-2558) ดีขึ้นเทียบกับก่อนควบรวมเติบโต 12%