xs
xsm
sm
md
lg

แนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด ตลท. เห็นสัญญาณสกัดบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลท. แนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด คาดภาครัฐอาจมีมาตรการสกัดเงินเงินร้อนแก้บาทแข็ง ชี้ หากเป็นมาตรการระยะสั้นกระทบไม่มาก ขณะเดียวกันก็มองว่า น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยา แนะกระทบตลาดบอนด์ในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าจะมีการออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน (แคปปิตอลคอนโทรล) และการเก็บภาษีเงินลงทุนต่างประเทศหรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรคงไม่ได้

"ต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุมฮ็อตมันนี่ที่เข้ามาฉวยโอกาสจากค่าเงินบาทได้อย่างไร เราไม่ทำอะไรคงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำดูเหมือนว่าผลกระทบจะเร็วกว่าทุกครั้ง เราไม่เคยเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว และดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงขนาดนี้"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากหน่วยงานรัฐออกกฎ หรือมาตรการดูแลการไหลเข้าของเงินต่างชาติระยะสั้น เชื่อว่าจะกระทบตลาดหุ้นน้อย เพราะเม็ดเงินต่างชาติที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันเป็นเงินลงทุนระยะยาว ที่มองพื้นฐานภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่ได้สนใจเรื่องค่าเงิน และส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น มีการปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไว้แล้ว

นอกจากนี้จากสถิติที่ผ่านมา ยังพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่เกี่ยวกับตลาดหุ้น เพราะในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแรง ดัชนีปรับลดลง ค่าเงินจะมีผลกับการลงทุนในตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น ซึ่งหากมีมาตรการออกมา จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะสั้นในตลาดพันธบัตรมากกว่า

ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่อเนื่องในช่วง 1 ปีข้างหน้า และเป็นประเทศที่นักลงทุนเลือกจะถือยาว ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแม้ว่าในปีนี้ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะไม่สูงที่สุดในโลก แต่ยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มจะแข็งค่าเร็วเกินไป และอาจเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ทำให้ธปท.ยิ่งต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งธปท.ยืนยันว่า ได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับแล้ว เพียงแต่การดำเนินการ จำเป็นต้องให้โอกาสตลาดในการปรับตัวก่อน

"เรื่องมาตรการเรามีรองรับอยู่แล้ว แต่ต้องรอติดตามสถานการณ์ก่อน อย่างที่ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ (ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ได้เรียนไปว่า เงินบาทขณะนี้อาจจะเริ่มเข้าสู่ในแดนที่แข็งเกินไปและเร็วเกินไป แต่เราต้องดูต่อไปว่า ตลาดจะปรับตัวยังไง และมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการใดๆ หรือไม่ เพราะมาตรการต่างๆ มันมีทั้งผลดี-ผลเสีย และยังมีผลกระทบในระยะยาว"นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชัดเจนว่ามีความแข็งแกร่ง นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นจึงเข้ามาลงทุน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามปัจจัยพื้นฐาน แต่การแข็งค่าในระดับที่อาจจะเริ่มเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปบ้างนั้น ถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนและผู้ร่วมตลาด ต้องใช้ความระมัดระวังที่เพิ่มเติม

"อัตราแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืนนั้น จะต้องมีเสถียรภาพ ไม่ควรเป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะถ้าเกิดความไม่สอดคล้องขึ้นมา ก็มีความเสี่ยงที่ค่าเงินจะเคลื่อนไหวผันผวนได้ในอนาคต"นายไพบูลย์กล่าว

ในส่วนของผู้ประกอบการภาคส่งออกเอง ขณะนี้เริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น สะท้อนได้จากยอดการทำประกันความเสี่ยง (เฮดจ์จิ้ง) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 60% เศษ ของยอดการส่งออก

นอกจากนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นยังช่วยให้หลายธุรกิจมีการใช้ประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงศักยภาพการผลิต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ตลอดจนการออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีราคาถูกกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น