xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.โกร่ง” ชำแหละ ดบ.นโยบายที่ระดับ 2.75% ต้นเหตุ ธปท. ขาดทุนหนัก 5.3 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
“วีระพงษ์” ชำแหละ ดบ.นโยบายที่ระดับ 2.75% ต้นเหตุ ธปท. ขาดทุนบักโกรกกว่า 5.3 แสนล้านบาท เพื่อดูดซับสภาพคล่อง ไม่ใช่ 4 แสนล้าน ตามที่เป็นข่าว ชี้การแทรกแซงโดยออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง กลับมีอัตรา ดบ. ใกล้เคียง ดบ.นโยบาย ขณะที่เงินดอลลาร์ซึ่ง ธปท.ซื้อมาก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก จึงเกิดเป็นส่วนต่างระหว่าง “ดบ.รับ-ดบ.จ่าย” ที่กำลังสร้างภาระ พร้อมระบุยอดคงค้างของการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง คิดรวมแล้วกว่า 4.6 ล้านล้านบาท ดบ.เฉลี่ยที่ 3% กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญ

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การกำหนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับที่สูงเป็นเหตุให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เพื่อเข้ามาแสวงหาส่วนต่างอัตราผลตอบแทน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน

ทั้งนี้ เมื่อเงินทุนเหล่านี้ไหลเข้ามาเพื่อกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.75% จึงมีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ ธปท.ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อลดการแข็งค่า และหลังการเข้าแทรกแซง ธปท.ก็ต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องที่เกิดจากการแทรกแซงนั้น โดยพันธบัตรที่ ธปท.ออกมีอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เงินดอลลาร์ซึ่ง ธปท.ซื้อมาก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก จึงเกิดเป็นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายขึ้นมา

“ปัจจุบันแบงก์ชาติมียอดคงค้างของการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง คิดรวมแล้วกว่า 4.6 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3% ลองคิดดูว่าแบงก์ชาติจะต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละเท่าไร และงบดุลล่าสุด ณ สิ้นเดือน ธ.ค.55 แบงก์ชาติก็มียอดขาดทุนรวมแล้วกว่า 5.3 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 4 แสนล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว ถ้าไม่รีบแก้ไขการขาดทุนคงจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แน่นอน”

โดยก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับฐานะการเงินของ ธปท. ที่มีผลขาดทุนจำนวนมาก ซึ่งตนเองหลังได้รับหนังสือจากนายกิตติรัตน์แล้ว ก็ได้นำหนังสือดังกล่าวเข้าหารือกับคณะกรรมการ ธปท.ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ตนเองยังได้ขอให้ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี เลขานุการคณะกรรมการ ธปท. ร่างหนังสือตอบกลับไปยัง นายกิตติรัตน์ ว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการ ธปท.ชุดนี้ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง

“ผมให้เลขานุการบอร์ดทำหนังสือตอบกลับไปอยู่ ซึ่งคงต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ผมและบอร์ดทุกคนถูกคาดโทษเอาไว้ คาดว่าหนังสือฉบับนี้คงจะถูกส่งกลับไปยัง รมว.คลังภายในสัปดาห์นี้”

สำหรับหนังสือที่ขอให้เลขานุการคณะกรรมการ ธปท.ร่างขึ้นมานั้น เป็นการอธิบายว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง เพราะตั้งแต่เดือน มิ.ย.55 คณะกรรมการ ธปท.ชุดนี้ ได้แสดงความห่วงใยถึงผลขาดทุนของ ธปท.

สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการ ธปท.ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนตรงนี้ คือ การขยายประเภทสินทรัพย์ที่ให้ ธปท. สามารถนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนเพิ่มได้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น เพียงแต่แก้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย

ทั้งนี้ บอร์ด ธปท. คงไม่มีอำนาจไปสั่งการให้ บอร์ด กนง. ลดดอกเบี้ยลงได้ เพียงแต่อยากฝากให้เห็นถึงประเด็นความเป็นห่วงตรงนี้ เพราะบอร์ด ธปท.เอง คงทำอะไรมากไม่ได้ ซึ่งในบอร์ด ธปท. ก็มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ นั่งเป็นรองประธานอยู่ และตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ มีฐานะเป็นประธานในบอร์ด กนง. ด้วย เพียงแต่ท่านอาจมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ยืนยันว่าเรื่องนี้ผมแจ้งให้บอร์ดทราบตั้งแต่เดือน มิ.ย.55 ที่ผ่านมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น