“ซีเค พาวเวอร์” ควง “อมตะ วีเอ็น” ขายไอพีโอช่วงพฤษภาคมนี้ ตลท.เชื่อโฮลดิ้ง คอมปานี สร้างจุดเด่นตลาดทุนไทย ด้านกูรูวาณิชธนกิจ ชี้ AEC คือตัวกระตุ้นเอกชนลงทุนเพื่อนบ้าน แนะปรับเกณฑ์รองรับบริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียน ชี้มาตรฐานบัญชีที่แตกต่างกันระหว่างประเทศยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการสายงานบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานสัมมนา “การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ ผ่าน Holding Companyไทย” ว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีการเติบโตที่สูงมาก และไม่ได้โตแต่เพียงในประเทศยังเป็นการเติบโตที่รองรับภูมิภาค และ AEC ด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของตลาดทุนไทยที่เริ่มมีธุรกิจแบบโฮลดิ้ง คอมปานี เข้ามาจดทะเบียนเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ในอนาคตแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นการเติบโตเพื่อภูมิภาคด้วย
นายประเสริฐ ภัทรดิลก กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด กล่าวว่า การการกำหนดให้โฮลดิ้ง คอมปานี ต้องมีการถือหุ้นในธุรกิจหลักมากกว่า 50% เป็นเรื่องที่เพิ่งแก้ไข หลังจากศึกษามาได้สักระยะ จากเดิม 75% จุดนี้เลยทำให้ บมจ.ช.การช่าง มีแผนตั้งโฮลดิ้งเข้ามาจดทะเบียนเพื่อระดมทุน
ทั้งนี้ มองว่าโฮลดิ้ง คอมปานี ที่มาจดทะเบียน และลงทุนในต่างประเทศยังมีความยุ่งยากในเรื่องของมาตรฐานทางบัญชีที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมีเรื่องของกฏหมาย และเกณฑ์ ดิวดิลิเจนซ์ (ตรวจสอบทรัพย์สิน) ซึ่งเกณฑ์เดิมที่ธุรกิจไทยไปต่างประเทศไม่น่ากังวลเท่าใด แต่ธุรกิจจากต่างประเทศมาจดทะเบียนในไทยอาจมีปัญหา ควรมีการปรับเกณฑ์รองรับเองให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เชื่อจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เอกชนไทยให้ความสนใจการไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งในที่นี้รวมถึงการจัดตั้งโฮลดิ้งฯ เพื่อไปลงทุนด้วย
“ต่างประเทศก็ให้ความสนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เช่น บริษัทจากจีน แต่อย่างที่ทราบกันดีบริษัทจีนบางบริษัทที่ไปจดทะเบียนในสิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐฯ บางทีสิ่งที่ทำกับสิ่งที่เคยรายงานไว้อาจไม่ตรงกัน หรือไม่เป็นไปตามที่เคยระบุ นี่คือปัญหา เราต้องมีเกณฑ์ หรือการกับกำกับที่ดีรองรับ หากจะให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น”
ด้านนายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ ผู้จัดการกลุ่มอุตสาหกรรม สายงานวาณิชธนกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทที่สนใจจะจัดตั้งโฮลดิ้งฯ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ อย่างแรกต้องเตรียมตัวในเรื่องการจัดโครงสร้างธุรกิจ เรื่องต่อมาคือการจัดการกลไกในการกำกับดูแลบริษัทในต่างประเทศ รวมถึงการจัดการมาตรการฐานทางบัญชีในเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ทำให้คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นมากกว่าบริษัทจดทะเบียนทั่วไปที่จะใช้เวลา 6-8 เดือน
นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อมตะ วีเอ็น จัดตั้งขึ้นมาร่วม 20 ปีแล้ว และเตรียมความพร้อมเข้าเป็นบริษัทมหาชนมาตั้งนาน เดิมทีจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม แต่ติดข้อจำกัดหลายด้าน พอดีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับเกณฑ์โฮลดิ้งฯ ใหม่ ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดตั้งในรูปแบบโฮลดิ้งฯ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยแทน
“อมตะ วีเอ็น มี AMATA ถือหุ้นเป็นผู้หุ้นใหญ่ เรามีแผนจะเสนอขายไอพีโอประมาณพฤษภาคมนี้ ประมาณ 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการ “อมตะ เอ็กซ์เพลส ซิตี้” ในเวียดนามซึ่งมีขนาดพื้นที่ 1,295 เอเคอร์ มากกว่าพื้นที่ปัจจุบันที่ อมตะ วีเอ็น ดำเนินการ
อยู่ประมาณ 2 เท่า โดยตอนนี้เราได้รับใบอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามให้เป็นผู้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวแล้ว”
ด้าน ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีเค พาวเวอร์ มีแผนจะเสนอขายไอพีโอประมาณ 220 ล้านหุ้น มูลค่าพาร์ละ 5.00 บาท ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุยายนนี้ เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า SPP ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อสะสมเงินลงทุนไว้รองรับโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานไฟ้ฟ้าของบริษัทอีกหลายโครงการ เช่น โครงการไชยบุรี กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัทโฮลดิ้ง คอมปานี ทั้ง 2 แห่งยืนยันว่า แม้ทั้ง 2 บริษัทจะมีการกำหนดช่วงระยะเวลาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใกล้เคียงกัน แต่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก และเชื่อว่าจะไม่ใช่การแย่งเม็ดเงินลงทุนระหว่างกัน