โดย .... รัฐวิทย์ เรืองประโคน มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
รายงานข่าวจาก “เครือมติชน” ที่ทยอยกันออกมาเป็นซีรีส์ ตั้งแต่ เยือนเขื่อนไซยะบุรี ฟังข้อมูลผู้ก่อสร้าง (ข่าวสด 23 ม.ค.) "เขื่อนไซยะบุรี" ในมุมมองเจ้าของโครงการ ตอบประเด็น "เอ็นจีโอ" (มติชน 29 ม.ค.) ช.การช่าง ตอบคำถาม โครงการไซยะบุรี ปลาผ่านได้ ตะกอนทราย ก็ผ่านได้ (ประชาชาติธุรกิจ 4 ก.พ.) และ เดินเครื่องโครงการไซยะบุรี ฝายไฮเทคกั้นแม่น้ำโขงปั่นไฟฟ้า (ประชาชาติธุรกิจ 6 ก.พ.) คือผลผลิตที่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี ได้พานักข่าวในเครือมติชนลงพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดอกให้สัมภาษณ์ฝ่ายเดียว แต่อ้างถึงประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย แต่กลับเลี่ยงไม่พูดถึงผลตอบแทนที่บริษัทจะได้จากโครงการนี้ และไม่พูดถึงผลเสียต่อระบบนิเวศ การขึ้น-ลงของน้ำ การไหลของตะกอน การอพยพของปลา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทำอาชีพประมง การทำเกษตร การท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประชาชนนับล้านในทุกประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
คำถามหลักๆ ที่ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงถามมายังรัฐบาลไทย ลาว และ ช.การช่าง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังไม่มีคำตอบ คือ เขื่อนนี้สร้างเพื่อผู้ลงทุน หรือเพื่อใคร และไทยต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนนี้จริงหรือ และความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ อีกทั้งวิถีชีวิตประชาชนริมฝั่งโขง ทั้งลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม จะคุ้มค่ากับไฟฟ้าที่ได้มาหรือไม่ และเมื่อหายนะมาถึง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ปัจจุบันรัฐบาลลาว ไทย กัมพูชา วางแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างทั้งสิ้น 12 โครงการ เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งตัวเขื่อนอยู่ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร และอยู่เหนือ อ. เชียงคาน จ. เลย เพียง 200 กิโลเมตร เขื่อนมีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และ 95 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
บริษัทที่ลงทุนสร้างเขื่อนนี้ คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย ช. การช่าง และบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีธนาคารของไทยอย่างน้อย 6 แห่งให้การสนับสนุนเงินกู้และการค้ำประกัน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงไทย, ทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า โดย กฟผ. ต้องลงทุนในโครงการสายส่งอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อรองรับไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมกราคม 2562
ทว่า โครงการมูลค่ามหาศาลที่สร้างโดยบริษัทเอกชนและบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ และสนับสนุนโดยธนาคารชั้นนำของไทย กลับไม่ปรากฎว่าได้ทำการประเมินผลกระทบ“ข้ามพรมแดน” ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ อีกทั้งยังไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น หรือได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างที่ควรจะเป็น
ผู้ลงทุนพยายามอธิบายให้คนแม่น้ำโขงคลายกังวล ซึ่งส่วนหนึ่งกลายมาเป็นพาดหัวข่าวที่ว่า "โครงการไซยะบุรี ปลาผ่านได้ ตะกอน ทราย ก็ผ่านได้" แต่คำอ้างนี้ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับรายงาน “การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” ปี 2553 โดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งระบุว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศพื้นฐาน การไหลของน้ำและตะกอน การขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่นของปลาในแม่น้ำโขง และแน่นอนว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนนับ 60 ล้านคน
ทั้งนี้ในรายงานการศึกษาดังกล่าวยังเสนอให้ระงับโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงออกไปอย่างน้อย 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งกัมพูชาและเวียดนามต่างสนับสนุนข้อเสนอนี้
นายเรวัตร สุวรรณกิติ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ กล่าวว่า "แกนนำเอ็นจีโอไทยสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ" จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจไปว่าเขื่อนนี้จะทำให้น้ำท่วม น้ำแล้ง
แต่นายเรวัตร จะรู้หรือไม่ว่าชาวบ้านและผู้ที่ติดตามข้อมูลเขื่อนไซยะบุรีต่างทราบดีว่าเขื่อนนี้เป็นเขื่อนประเภท Run-of-River แม้จะไม่มีอ่างเก็บขนาดใหญ่เหมือนเขื่อนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขื่อนนี้ไม่ได้กักน้ำไว้เลย
เพราะในความเป็นจริง เขื่อนไซยะบุรีจะปิดประตูเขื่อนทุกวันเพื่อกักน้ำไว้ มีความลึกสูงสุดประมาณ 33 เมตร อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจะกินพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตร ที่สำคัญ เขื่อนจะปล่อยน้ำทุกวันเพื่อผลิตไฟฟ้า
รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า การเปิด-ปิดประตูเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีความลึกต่างกันประมาณ 3-6 เมตร (ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากตัวเขื่อน) นอกจากชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านริมน้ำโขงจะตกอยู่ในอันตรายแล้ว ยังมีเรื่องของปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล ชาวประมงรู้ดีว่าในช่วงน้ำกำลังลดซึ่งเป็นช่วงที่จับปลาได้มากที่สุด หากระดับน้ำขึ้น แม้ไม่ถึง 10 เซนติเมตร หรือน้ำขุ่นจนผิดปกติ ชาวบ้านจะจับปลาไม่ได้ทันที เพราะปลาจะหลงน้ำและเปลี่ยนทิศการว่าย หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงหลายเมตรทุกๆ วัน หายนะจะมีมากเพียงใด
ในส่วนของ "ลิฟท์ปลา" และ "ทางปลาผ่าน" ซึ่งมีความยาวสูงสุดถึง 3,000 เมตร ซึ่งบริษัทอ้างว่าใช้การได้ดีกับปลาในแม่น้ำโขง จนถึงบัดนี้ยังไม่มีงานศึกษาวิจัยที่มีมาตรฐานรองรับข้ออ้างดังกล่าว ตรงกันข้ามกับรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และรายงานทางวิชาการอีกหลายฉบับที่ชี้ว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจะปิดกั้นเส้นทางอพยพ ลดจำนวนและความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีเพียงปลาผิวน้ำขนาดเล็กไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กระโจนขึ้นทางปลาผ่านของเขื่อนได้ในระยะทางสั้นๆ ไม่กี่สิบเมตร
แม้แต่นักวิชาการจากกรมประมง นายนฤพล สุขุมาสวิน ก็ได้เคยกล่าวในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์นั้นต้องอาศัยน้ำลึกในการอพยพ และเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาบึกจะใช้ "ทางปลาผ่าน" ส่วน "ลิฟท์ปลา" ก็เหมาะสำหรับขนปลาแซลมอนที่อพยพมาคราวละมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน
เรื่องการระบายตะกอน แม้ผู้พัฒนาโครงการจะอ้างว่าเขื่อนนี้มีประตูระบายตะกอน 4 ประตู แต่การควบคุมการปล่อยตะกอนให้สัมพันธ์กับการไหลและการขึ้น-ลงของระดับน้ำ และคุณภาพของตะกอนที่ปล่อยนั้น มีคำถามว่าใครเป็นผู้ดูแล
ตะกอนในแม่น้ำโขงเป็นตะกอนที่ไหลตามน้ำเป็นปกติตลอด 24 ชั่วโมง แต่เขื่อนจะปล่อยตะกอนบางช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตไฟฟ้า และในฤดูร้อนซึ่งมีน้ำน้อย เขื่อนจะไม่สามารถไล่ตะกอนออกได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน และจะกลายเป็นตะกอนเน่าเสียและเป็นพิษ เมื่อถูกระบายออกมาในต้นฤดูฝน ตะกอนเน่าเสียเหล่านี้จะทำให้คุณภาพน้ำโขงซึ่งมีออกซิเจนอยู่ในปริมาณที่จำกัดอยู่แล้ว กลายเป็นน้ำเน่าเสีย และมันย่อมกระจายไปตามลำน้ำ ข้ามพรมแดนไทยเข้ามาที่ อ. เชียงคาน จ.เลย และแม่น้ำตลอดสายในที่สุด
ในเรื่องความต้องการไฟฟ้าและการจัดการระบบพลังงานของไทย ซึ่งหลายคนเป็นห่วงนั้น ความจริงก็มีงานศึกษา เรื่อง “ข้อเสนอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า” โดย ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน และดร. คริส กรีเซน ได้ระบุชัดเจนว่า การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าของไทยสูงเกินจริง และนำมาซึ่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เกินความต้องการ เอื้อต่อประโยชน์ผู้ลงทุนเป็นหลัก ทั้งที่ไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองถึง 15-20%
ที่สำคัญ แผนพีดีพีที่ผ่านมาก็ไม่เคยให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อมาตรการด้านประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานความร้อนร่วม การยืดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยควรมีหน้าที่เป็นแผนแม่บทที่กำหนดแนวทางให้มีการลงทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แผนที่มีขึ้นเพื่อสร้างตัวเลขรองรับและความชอบธรรมให้กับการลงทุนที่ล้นเกินอย่างเขื่อนไซยะบุรี
ความไร้มาตรฐานที่สำคัญคือ โครงการนี้ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านต่างๆ ทั้งๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำของภูมิภาคที่มีผู้คนพึ่งพาอาศัยกว่า 60 ล้านคน ทั้งด้านการประมง การเกษตร การค้าขาย และการท่องเที่ยว ฯลฯ แม้โครงการไซยะบุรีจะเคยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดย Pöyry Energy AG แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรายงานที่ไม่มีมาตรฐาน และบริษัทนี้ก็กำลังถูกรัฐบาลประเทศฟินแลนด์ตรวจสอบอย่างหนักในเรื่องการละเมิดหลักความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของบริษัท กรณีเขื่อนไซยะบุรี
แม้นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จะได้บอกกล่าวกับนักข่าวทั้งหลายในเครือมติชนที่บริษัทพาลงพื้นที่ว่า "การรับเหมาก่อสร้างงานนี้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะทำกำไรสูงสุด แต่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย" แต่เจ้าของโครงการกลับไม่เอ่ยถึงรายได้ค่าไฟฟ้าที่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ ช.การช่าง ถือหุ้นใหญ่จะได้รับจากโครงการอย่างน้อย 370,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงประโยชน์จากสัญญารับเหมาก่อสร้างเขื่อน และผลประโยชน์จากราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ
ในขณะที่ประชาชนผู้พึ่งพาแม่น้ำโขงต่างรู้ดีว่า มันเป็นเพียงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่ร่วมกันสร้างเขื่อนไซยะบุรีเท่านั้น ผู้ที่จะรับชะตากรรมคือผู้ที่อาศัยพึ่งพิงลำน้ำโขงมาช้านาน พวกเขารู้ดีว่า เขื่อนไซยะบุรีนอกจากจะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำที่ไม่มีเส้นแบ่งแยกพรมแดนแล้ว ยังจะทำลายเศรษฐกิจชุมชนริมโขงตลอดลำน้ำ และนั่นหมายถึงการทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งภูมิภาคด้วย
คำถามต่อจากนี้คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อหายนะที่จะเกิดขึ้น บริษัท ช.การช่าง รัฐบาลลาว รัฐบาลไทย หรือ กฟผ.