xs
xsm
sm
md
lg

2.2 ล้านล้านดันหุ้นรับเหมาทะยาน “อนุทิน” ร่วมเพื่อไทย “STEC” กระฉูด (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หุ้นรับเหมาก่อสร้างเด้งรับเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้าน ITD และ CK วิ่งกระฉูด ส่วน STEC ของชาญวีรกูลคงต้องรอร่วมรัฐบาลก่อน ชี้งานนี้หากนักการเมืองดอดเก็บหุ้นไว้ก่อนรวยอื้อ ด้านนักวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นเป็นไปได้ 2 โครงการคือรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ เหตุศึกษามานาน ผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่าย ที่เหลือยังต้องรอ

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 2.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นจุดสนใจใหม่สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย รวมถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ยังถือเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รัฐบาลถูกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่าเน้นแต่โครงการประชานิยม พร้อมๆ กับเป็นการกลบกระแสเรื่องโครงการจำนำข้าวที่ประเมินกันว่ารัฐบาลจะเสียหายจากโครงการนี้มากกว่า 1 แสนล้านบาท

การผุดเรื่องใหม่ที่ใหญ่กว่ากลบเรื่องเก่าที่มีปัญหา ถือเป็นสูตรสำเร็จที่ทักษิณ ชินวัตร ใช้ได้ผลมาโดยตลอดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคไทยรักไทย และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน กระแสสังคมหันไปจับจ้องโครงการนี้มากขึ้น ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวถูกลดความสนใจลงไป

หุ้นรับเหมา “กระทิง”

ภายใต้เมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศครั้งนี้ มากกว่า 80% เป็นงบที่ใช้ในการก่อสร้างเส้นทางสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งทางบก น้ำและอากาศ กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรงขึ้นอยู่กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่และเล็ก

ไม่ว่าโครงการนี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหา หรือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นักการเมืองใช้ทำมาหากินค่าหัวคิว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเม็ดเงินไหลเข้าจากต่างประเทศได้ผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทะลุและยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้อย่างสบาย

“แม้ว่าหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะไม่ใช่ตัวชี้นำดัชนีตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่เวลานี้หุ้นก่อสร้างก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เดินหน้าต่อ” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าว

หุ้นในกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน 2555 หลังจากที่โครงการเมกะโปรเจกต์เริ่มเดินหน้า แต่ก็มีบางตัวที่ได้รับความสนใจมาก่อนอย่างบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่มีโครงการทวายร่วมกับพม่าและรัฐบาลไทยได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้หลังจากที่ ITD มีปัญหาด้านการระดมทุน

3 บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านก่อสร้างของไทย ITD ถือว่าเป็นบริษัทก่อสร้างที่ได้รับงานจากภาครัฐมากที่สุด รองลงมาเป็นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ส่วน บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ได้รับงานของรัฐบาลน้อย
หากนับตั้งแต่ต้นปี 2556 หุ้น ITD ปรับเพิ่มขึ้น 45.8% หุ้น CK ปรับขึ้น 67.8% และ STEC เพิ่มขึ้น 17.5%

ชิโนฯ รอภูมิใจไทย

แม้ว่า STEC ดูเหมือนจะได้รับงานจากภาครัฐน้อยมากในช่วงรัฐบาลนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มชาญวีรกูล ผู้ถือหุ้นใหญ่ STEC นั้นลงเล่นการเมืองในพรรคภูมิใจไทยที่มีเนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำ และได้เปลี่ยนขั้วหันมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ทำให้พรรคเพื่อไทยหลุดจากการเป็นรัฐบาล

เมื่อเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล งานของ STEC จึงได้รับน้อยมาก และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงในพรรคภูมิใจไทยที่อนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแทนเนวิน ชิดชอบ ที่หันไปเอาดีกับการทำทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พร้อมๆ กับท่าทีของพรรคภูมิใจไทยยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อพรรคเพื่อไทย

หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ มีความเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล คาดกันว่าน่าจะส่งผลดีต่องานก่อสร้างของ STEC ในอนาคต

หัวคิวแนบเนียน

เมื่อรัฐบาลปลุกภาคการก่อสร้างให้ตื่นขึ้นมาด้วยโครงการขนาดใหญ่ สิ่งที่จะตามมาคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก เสาเข็ม ยางมะตอย กระเบื้อง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้แรงงานคนในการก่อสร้างจำนวนมาก ไม่ต่างจากอดีตที่รัฐบาลใช้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ภาพรวมที่เห็นจึงทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับหุ้นในกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่คาดกันว่าน่าจะได้รับสัมปทานงานจากภาครัฐ รวมไปถึงบริษัทก่อสร้างรายกลางและเล็ก เนื่องจากวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของวงการก่อสร้างนั้น เมื่อรายใหญ่ได้งานมาก็มักจะส่งต่องานให้กับรายเล็ก หุ้นในกลุ่มนี้จึงได้รับความสนใจทั้งกลุ่ม

หากหันกลับมามองในวงการก่อสร้างแล้ว เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่างานก่อสร้างแต่ละรายการเกือบทั้งหมดจะมีเรื่องของหัวคิวที่ต้องจ่ายให้กับผู้ที่มีอำนาจ ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น 20-30% หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลง หรือภาคการเมืองอาจส่งนอมินีเข้ามาไล่เก็บหุ้นของบริษัทก่อสร้างไว้ก่อนที่จะประกาศโครงการก็สามารถทำได้ เพราะนี่ถือว่าเป็นข้อมูล Insider

นักการเมืองหลายคนมีพื้นฐานมาจากวงการก่อสร้าง มีทั้งส่วนที่เป็นเจ้าของหรือเป็นแค่ที่ปรึกษาแล้วป้อนงานจากภาครัฐให้บริษัทก่อสร้างเหล่านี้ ยิ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งทำได้แนบเนียน ทั้งเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลงานภาครัฐให้เอื้อต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เงินทอนที่ได้จึงตกไปอยู่ในรูปของค่าใช้จ่ายของบริษัทก่อสร้างเหล่านั้น หรืออาจเลือกที่จะเน้นไปที่ราคาหุ้นของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการให้คนสนิทเข้าไปดอดซื้อหุ้นเก็บไว้ก่อนหรือได้รับความร่วมมือกับเจ้าของบริษัทที่ดำเนินการให้ เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นมามากๆ เจ้าของก็ขายหุ้นออกมา เงินในส่วนนี้ก็ถ่ายมาสู่ผู้อนุมัติโครงการ

เมื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าแล้วสิ่งที่ตามมาคือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ จะเริ่มเข้าไปดำเนินการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อภายหลังหรือได้ข้อมูลวงในแล้วดักซื้อไว้ก่อน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองมีเครือข่ายกับทุกวงการ โดยยุคนี้อาจเป็นยุคทองของอสังหาริมทรัพย์

 
ให้น้ำหนัก 2 โครงการ

นักวิเคราะห์จากบริษัท หลักทรัพย์เคจีไอ กล่าวว่า รายใหญ่คงมุ่งไปที่โครงการที่มีมูลค่า 5 พันล้านบาทขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นคงปล่อยให้รายกลางเข้ามารับงาน

โครงการที่มีความเป็นไปได้คือโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ ถือว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแผนที่เคยศึกษาตามแผนแม่บทกันมาแล้ว ผ่านการเห็นชอบ ผ่าน EIA และมีการจัดสรรเม็ดเงินลงไปแล้ว ส่วนโครงการอื่นยังต้องรอ ภาพโดยรวมหุ้นกลุ่มนี้ยังเป็นช่วงขาขึ้นต่อไปในอีก 3-5 ปี ส่วนหุ้นของบริษัทใดจะไปได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับงานที่ได้

เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน ที่ประเมินว่าเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนั้น ฟังแล้วดูดี แต่จะทำได้กี่โครงการคงต้องรอดู โครงการขนาดใหญ่ต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือจากสภาพัฒน์ ที่ทำได้ในเวลานี้ถือเป็นโครงการเก่าที่ศึกษากันมาอย่างยาวนาน

เกรงว่าที่จะทำได้จริงๆ คงมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วคือคนทั้งประเทศเข้าใจเหมือนกันว่ารัฐบาลจะใช้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นก็รับไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ก็ประเมินตัวเลขกันไปแล้ว ทำให้ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยดี ไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซา

*****
สำหรับโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไร และคนไทยจะต้องแบกหนี้เพิ่มหรือไม่...

โปรดติดตาม ตอน 3

กำลังโหลดความคิดเห็น