xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัย ธปท. ชำแหละส่วนต่าง ดบ. ต้นเหตุ “ทุนนอก” ทะลักเข้าไทยจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดผลวิจัย ธปท. ชำแหละส่วนต่าง ดบ. ต้นเหตุ “ทุนนอก” ทะลักเข้าไทยจริงหรือ? โดยผลการศึกษาชี้ว่า การปรับลด ดบ.ของไทยชะลอเงินทุนไหลเข้าได้แค่ระยะสั้น แต่มีผลกระทบข้างเคียงสูง

นายศุภโชค ถาวรไกรวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.ชิดชนก อันโนนจารย์ เศรษฐกร สายนโยบายการเงิน ธปท. ได้จัดทำงานวิจัยและนำเสนอบทความเรื่อง “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทำให้ทุนนอกไหลเข้าไทยจริงหรือ?” โดยระบุว่า จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ (Portfolio Investment) สู่ประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายปัจจัยมีผลต่อการไหลเข้าของทุนนอกสู่ไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐฯ

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศเรียงลำดับความสาคัญจากมากไปน้อย ดังนี้ คือ 1) ความกังวลของนักลงทุนต่างชาติที่เปลี่ยนไป 2) ทิศทางของค่าเงินบาท 3) แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 4) ความผันผวนของค่าเงินบาท 5) การเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐฯ และ 6) อัตราเงินเฟ้อของไทย ซึ่งแสดงนัยทางนโยบายว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศจะมีผลน้อย และเพียงในระยะสั้นเท่านั้น

ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจึงควรชั่งน้ำหนักระหว่างการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศกับผลข้างเคียง จากการลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากดูจากมูลค่าการซื้อขายเงินบาทสุทธิ เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินกับลูกค้าต่างประเทศที่รวมกันลงทุนจากต่างประเทศในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. ตราสารหนี้ และหุ้น พบว่า นักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูง แต่ไม่ชอบความเสี่ยงจากการลงทุน และการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่มีผลจากปัจจัยอื่นด้วย ซึ่งปัจจัยหลัก คือ ลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนจาก 1) อัตราดอกเบี้ย 2) ตราสารทุน หรือหุ้น และ 3) การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า การไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุน และการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐฯ แต่ไม่ขึ้นอยู่กับระดับความกังวลของนักลงทุน หรือระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

โดยข้อค้นพบนี้มีนัยในเชิงนโยบายว่า การใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยของไทยเพื่อลดการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ จะมีผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น สมมติว่าในเดือน ม.ค. อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 1 มีส่วนต่างดอกเบี้ยไทยสหรัฐฯ ที่ ร้อยละ 2 และโดยปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจไทย และความกังวลของนักลงทุน นักลงทุนต่างประเทศมีความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยเป็นมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.พ.ไปอยู่ที่ร้อยละ 2 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1 ดังนั้น ส่วนต่างดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1 แต่ผลการศึกษากลับพบว่า การเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนี้จะทำให้มีการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น อาจลดลงไปจากเดือน ม.ค. อยู่ที่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หากในเดือน มี.ค. กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2 และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1 ส่วนต่างดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ถ้าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่นยังคงเดิม เงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างชาติจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.

ดังนั้น นโยบายด้านลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จึงมีผลแค่เพียงในระยะสั้นเท่านั้น และการศึกษายังพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรระดับของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีค่าต่ำมาก และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนคลื่อนย้ายในต่างประเทศ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาใหม่ (New Information) ในวงการการเงิน มีผลต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยลองจินตนาการว่า ผู้อ่านเป็นผู้จัดการกองทุนข้ามชาติ (Fund Manager) ที่ต้องนำเงินไปลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง ในเดือน ม.ค. ผู้จัดการกองทุนต้องตัดสินใจนำเงินไปลงทุนยังประเทศต่างๆ โดยพิจารณาทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนว่าจะนำเงินไปลงทุนที่ใดเป็นจำนวนเท่าไร

ถ้าหากว่าในเดือน ก.พ.ปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลง และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยยังคงเหมือนในเดือน ม.ค.ก็คงไม่มีความจำเป็นให้ผู้จัดการกองทุนโยกย้ายเงินจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจยังคงที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ผู้จัดการกองทุนก็มีความจำเป็นต้องปรับสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงสุด และถ้าในเดือน มี.ค.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดือน ก.พ. ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น