xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ยันแสดงความเห็น ดบ. ไม่ได้ชี้นำ “บอร์ด กนง.” ไม่หวั่นการเมืองบีบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
“กิตติรัตน์” ยืนยันไม่ได้แทรกแซง “กนง.” ในการกำหนดนโยบาย ดบ. ลั่นการพูดถึง ดบ. ที่ผ่านมาเป็นการแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้หวังผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตำแหน่ง “รมว.คลัง” มีหน้าที่ต้องกำกับดูแล และรับผิดชอบ ด้าน “อำพน” ยันไม่กดดันฝ่ายการเมืองบีบลด ดบ.นโยบายสกัดเงินทุนไหลเข้าเพื่อลดแรงกดดัน “บาทแข็ง” ย้ำการตัดสินใจคำนึงถึงเสถียรภาพทาง ศก. และวิชาการอย่างรอบคอบ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การที่แสดงความห่วงใยเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่านการปาฐกถาในหลายเวทีนั้น เป็นเพราะตามกฎหมายแล้ว รมว.คลังมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลและรับผิดชอบ ดังนั้น การแสดงความเห็นในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของตนที่ผ่านมา จึงเป็นการแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้หวังผลใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้การส่งออกของไทยจะเติบโตได้น้อยลง แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศยังมีความเข้มแข็ง จึงเกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ และเป็นแรงจูงใจที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน

ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ต้องไตร่ตรองว่าเม็ดเงินดังกล่าวเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะสั้นเพื่อต้องการจะเก็งกำไรหรือไม่ เพราะหากเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาเก็งกำไรก็จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผมได้ทำหนังสือห่วงใยไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว”

ส่วนกรณีที่วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 แสนล้านบาทนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการยังเป็นไปตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ การกู้เงินจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งจะนำเงินที่กู้มาไว้สำหรับเป็นเงินคงคลังเพื่อเบิกจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาตามเนื้องานที่ดำเนินงานไปแล้ว ไม่ใช่การกู้เงินแล้วนำไปกองไว้ให้ผู้รับเหมา

พร้อมยืนยันว่า เงินที่จะจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาจะต้องสอดคล้องกับเนื้องาน และจะไม่มีการขยายเวลาการกู้เงินออกไป เพราะได้มีข้อตกลงกับสถาบันการเงินไว้แล้ว และจะต้องทำให้สอดคล้องกับการบริหารเงินคงคลัง

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน (บอร์ด กนง.) ให้ความเห็นว่า แม้ฝ่ายการเมืองจะออกมาเรียกร้องให้ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยสกัดเงินทุนไหลเข้าประเทศ และช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทลงนั้น การออกมาเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อตัวเองฐานะกรรมการ กนง.ที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานมาหลายปี

ทั้งนี้ การจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งการตัดสินใจจะยึดตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ยืนยันว่า กรรมการ กนง.ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น และมีความรับผิดชอบต่อความเห็นของตัวเอง โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.2556 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น