xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง-โกร่ง"สั่งธปท.ลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "โต้ง" ควง "ดร.โกร่ง" สั่งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลงมาอีกกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ส่วนค่าบาทต้องอ่อนค่าช่วยเหลือภาคส่งออก ลั่นว่าการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมืองแบบนี้ไม่ใช่เป็นการพูดแบบลอยๆ พร้อมเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มั่นใจรายได้รัฐตามเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานในงานดินเนอร์ทอล์ก "พลวัตเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก" จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก โดยต้องการเห็นดอกเบี้ยจาก 3% เหลือเพียง 2.5% เพื่อให้เกิดกระตุ้นการลงทุนในประเทศ และดูแลเงินบาทให้อ่อนค่า เพื่อดูแลการส่งออก
นายกิตติรัตน์ยืนยันว่าการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมืองแบบนี้ไม่ใช่เป็นการพูดแบบลอยๆ พร้อมกล่าวถึงงบประมาณปี 2555 ว่า เป้ารายได้ไว้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย แม้จะไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) รวมทั้งภาษีสรรพสามิตดีเซล และที่ตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 3 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะทำได้ เพราะตัดรายจ่ายดอกเบี้ยของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปถึง 6 หมื่นล้านบาท
"รัฐบาลตั้งเป้าให้งบประมาณเข้าสู่สมดุลโดยเร็ว รวมทั้งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม" นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับปีงบประมาณ 2556 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.4 ล้านล้านบาท โดยรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีนี้เพียง 2 หมื่นล้านบาท จากที่อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ในปี 2557 ยังตั้งเป้าลดงบขาดดุลอีก 50,000-100,000 ล้านบาท โดยจะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น กองทุนดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศ ซึ่งคุณภาพยาที่ใช้รรักษาผู้ป่วยมีราคาต่างกันมาก ทั้งที่องค์กรต่างประเทศยืนยันว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกัน หากสามารถปรับปรุงกลไกนี้ จะช่วยลดรายจ่ายได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี.
ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเดียวกันในทิศทางสอดคลังกับ รมว.คลัง ว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเดินหน้านโยบายการเงิน เพื่อสนับสนุนการขขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขาดหายนาน 15 ปี รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะไม่มีปัญหาด้านแหล่งเงินทุน เนื่องจากขณะนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศ และเงินออมในประเทศมีอยู่จำนวนมาก รองรับความต้องการลงทุนโครงการต่างๆ ได้ และจะเกิดขึ้นได้หรือไม่อยู่ที่ความสามารถและศักยภาพของรัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น