“นายกฯยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมภาคส่งออกรับมือวิกฤตยุโรป สั่งลดสต๊อกยุโรป พร้อมหาตลาดใหม่ เชื่อถ้าภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ปรับวิธีการ ปรับเป้าหมาย จะทำให้การส่งออกโต 15 % ตามเป้าที่วางไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (30 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการส่งออกเพื่อผลักดันการส่งออกให้มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15 (ปี 2555) โดยมีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในการจัดซึ่งมีการเชิญนักธุรกิจภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า ภาคการส่งออกเป็นภาคที่มีความสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตให้ประเทศ นำเงินตราเข้ามา 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯและเป็นที่ทราบกันดีกว่าภาคธุรกิจส่งออกในอดีตมีการเจริญเติบโตสูงมากและมีศักยภาพอย่างดี แต่ปลายปีเราเจอปัญหาสถานการณ์อุทกภัย มีผลทำให้การส่งออกชะงักและกำลังจะเห็นทิศทางที่ดีก็มีปัญหาในส่วนของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งอเมริกาที่เคยเกิดขึ้นแล้วการเติบโตก็ยังไม่กลับมาเท่าในอดีต นอกจากนี้เรากำลังประสบปัญหาในส่วนของยุโรปหรือยูโรโซนด้วย
“ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ภาครัฐมีความห่วงใยและกังวล แต่เราไม่อยู่ในความประมาทได้ติดตามทั้งส่วนของสภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อย่างใกล้ชิด และได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เรียกประชุมภาคธุรกิจและเศรษฐกิจทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามและเข้าใจสถานการณ์ วันนี้ก็เป็นอีกแอคชั่นที่ให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามการเคลื่อนไหวและแลกเปลี่ยนผลกระทบกับภาคธุรกิจ ทั้งในทางอ้อมว่าภาคส่งออกมีปัญหาในส่วนของยูโรโซนมากน้อยอย่างไร และไม่ได้มองแค่ตรงนี้ แต่ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้เติบโตอย่างไรในอนาคตในการแข่งขัน และอีกสามปีข้างหน้าเราต้องก้าวเป็นประชาคมอาเซียนจะต้องปรับตัวอย่างไร
นายกรัฐมนตรี กล่าวยว่า ขอฝากโจทย์ว่าอยากจะเสนอให้ดูในระยะเร่งด่วน ทั้งผลกระทบทางตรงและอ้อม และดูภาคธุรกิจส่งออกทั้งหมดเพื่อเตรียมตัวแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เราจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์กระทบก่อนแล้วมาแก้ เพราะมีประสบการณ์ ถ้าเรามีการควบคุมตั้งแต่เนิ่นๆจะทำให้เราแก้ไขได้ก่อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการมาช่วยกันแก้ปัญหาจะช่วยการส่งออกดำเนินการได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยว่า อยากให้คุยกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องของตลาด ที่อยากให้นักธุรกิจทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ในการหาตลาดที่ดีนอกเหนือจากตลาดเร้ดโอเชียน แต่ให้มองตั้งแต่การหาตลาดบลูโอเชียน ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งการหาตลาดใหม่โดยเราไม่ได้มองว่าจะเป็นการหาสินค้าปลายทางแล้วส่งออกอย่างเดียว อยากให้มองที่ประชาคมอาเซียนด้วยว่าอยากให้ปรับฐานใหม่ อาจจะเป็นลักษณะห่วงโซ่อุปทาน เช่น ถ้าซื้อในประเทศอาจมีปัญหา ก็ใช้โครงสร้างของอาเซียนที่ภาษีเป็นศูนย์จะทำให้ลดต้นทุนหรือไม่ ถ้าทำตรงนี้ได้ประเทศไทยซึ่งมีฝีมือด้านแรงงาน เพราะการที่เราสำรวจหลายประเทศพบว่าสินค้าเราเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งหมวดอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ฝีมือและเราต้องยืนยันตรงนี้ส่วนของตลาดใหม่ และในส่วนของตลาดเดิมที่มีศักยภาพ ต้องหาว่าอยู่ตรงไหนและจะทำให้แข็งแกร่งได้อย่างไร และสำหรับตลาดที่มีผลกระทบอย่างเร้ดโอเชียนหรือยูโรโซน จะต้องหาความแข็งแรงในตลาดนี้ที่มีปัญหาอย่างไร เช่น ลดสต็อกให้น้อยลง แต่ยังค้าขายได้ แล้วก็หาตลาดเพิ่ม
“เราทำอย่างไรให้ในระยะยาวเรามีกลุ่มต่าง ๆ และฐานที่ชัดเจน เราจะให้หน่วยงานเข้ามาช่วยให้สินค้าของท่านที่ควรขายได้กลับขายไม่ได้ให้ดีขึ้น จะเพิ่มผลผลิตอย่างไร และในส่วนของแรงงานถ้าเรามีความเข้าใจตรงกันกระทรวงแรงงานก็จะฝึกพัฒนาฝีมือให้เป็นที่รองรับตรงความต้องการของตลาดต่อไป และขอให้ทุกกระทรวงทำงานในยุทธศาสตร์เดียวกัน”
ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐจะนำทุกสรรพกำลังในการให้ดอกเบี้ยต่ำรวมทั้งให้กู้ยืมอย่างเต็มศักยภาพเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ เพราะถ้าเราวางทิศทางสอดคล้องกัน ภาครัฐก็จะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ทำอย่างไรจะลดอุปสรรคในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเรื่องของภาษี การรองรับการขนส่ง การแออัดของท่าเรือ ซึ่งรัฐบาลพร้อมและน้อมรับในการทำงานกับเอกชน
“ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และยืนยันว่าคงไม่ใช่การสัมมนาครั้งเดียวแล้วจบ ถ้าเรามีการคุยทิศทางปัญหาชัดเจนก็ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในการลงไปดูถึงแผนปฏิบัติงานและอยากเห็นการประชุมแบบนี้ต่อเนื่อง และเข้าใจกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเป้าหมายส่งออกในวันนี้ที่ตั้งไว้15% ยังเชื่อมั่นว่าถ้าทำงานด้วยกัน ปรับวิธีการ ปรับเป้าหมายก็จะประสบความสำเร็จ”