ธปท. เกาะติดสินเชื่อ “รถคันแรก-คอนโดฯ” เผยหนี้ครัวเรือนปี 55 ทะยานกว่า 21.6% แม้จะน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่พบสัญญาณหนี้เน่า พร้อมกางตัวเลขผลประกอบการแบงก์ปี 55 โกยกำไรอื้อ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ขณะที่สินเชื่อเติบโต 14%
นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้เฝ้าติดตามการเร่งตัวของสินเชื่อรถยนต์ตามมาตรการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาหนีี้่่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
นายอานุภาพ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่พบสัญญาณหนี้เสีย แต่มีผู้กู้บางส่วนไม่มีความพร้อมในการผ่อนชำระ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปีนี้สินเชื่อรถยนต์จะยังขยายตัวสูงตามการส่งมอบรถยนต์ที่คงค้างอยู่ 700,000 คัน จากยอดจองรถยนต์โดยรวม 1.2 ล้านคัน หลังจากปีที่แล้วสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39
ขณะเดียวกัน ต้องตามสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงส์ให้ขยายตัวได้ดีจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และภาวะเงินทุนไหลเข้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา สินเชื่อคอนโดมิเนียมขยายตัวร้อยละ 25.4 เพิ่มจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 20 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมซื้อคอนโดมิเนียมมากขึ้น แต่ภาพรวมยังไม่พบสัญญาณที่ก่อให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์
ส่วนสินเชื่อบุคคลขยายตัวร้อยละ 27.8 มาจากความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวร้อยละ 12.6 จากการขอสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หลังได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท
ส่วนผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปีที่แล้ว มีกำไรสุทธิ 174,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 143,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.2 ซึ่งสินเชื่อภาพรวมขยายตัวร้อยละ 13.7 โดยเป็นการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
โดยคุณภาพสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังมีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้ปัญหาเอ็นพีแอลของทั้งระบบจะยังไม่น่ากังวล โดยมียอดคงค้าง 254,000 ล้านบาท
ส่วนยอดการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มีระดับการเติบโตอยู่ที่ 21.6% เทียบกับปี 2554 ซึ่งเติบโตที่ 15.8% สวนทางกับการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมทั้งระบบในปี 2555 ซึ่งมียอดคงค้างอยู่ที่ 9.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.7% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 15.1%
สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจในปี 2555 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.6% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีระดับการเติบโตอยู่ที่ 14.8% ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) ในปี 2555 มีระดับการเติบโตอยู่ที่ 14.1% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 14.4%
ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อทุกประเภทนั้น ยังไม่มีสัญญาณใดที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคนั้น แม้มีระดับการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตได้ดี ก็เชื่อว่าผลกระทบที่จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้นคงน้อยลงตามไปด้วย