กรุงศรีฯ เดินหน้าแผนธุรกิจปีนี้ ตั้งเป้าสินเชื่อโต 12% NIM 4.4% และ ROE แตะ 15% เผยเน้นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์-กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ และขยายฐานไปภูมิภาครับเออีซี ยันแม้จะต้องเปลี่ยนผู้ถือหุ้น แต่ธุรกิจ-ทีมบริหารยังแข็งแกร่ง
นางเจนิส แวน เอ็กเคอเรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยถึงเป้าหมายดำเนินธุรกิจในปี 2556 ว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อที่ระดับ 12% จากปีก่อนหน้าที่ 17.2% เงินฝาก CASA เติบโตกว่า 50% จากปีก่อนที่ 54% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 4.4% จากปีก่อน 4.33% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 15% จากปีก่อนที่ 18.8% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ไม่เกิน 2.5% จากปีก่อนที่ 2.39% และมีผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ติด 1 ใน 3 ของระบบเป็น 15% จากปัจจุบันที่ 13%
ทั้งนี้ ธนาคารจะเดินหน้านำเสนอบริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การขยายฐานไปในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือไมโครไฟแนนซ์ รวมถึงการขยายฐานสู่ธุรกิจภูมิภาคเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) โดยจะให้ความสำคัญกับ 3 ประเทศคือ ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งในจะมีทั้งรูปแบบของการเปิดสาขา สำนักงานตัวแทนและร่วมกับธนาคารท้องถิ่นตามความเหมาะสม
“ที่เราตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โตต่ำกว่าปีก่อน เป็นเพราะปีที่แล้วมีปัจจัยพิเศษที่น้ำท่วมทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และที่อยู่อาศัย รวมถึงนโยบายรถคันแรกของรัฐทำให้มีความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่ม ซึ่งปีนี้ก็คงมีบ้างแต่ไม่มากเท่าปีก่อน ส่วนเอ็นพีแอลที่ระดับสูงกว่าปีก่อน ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราขยายธุรกิจได้มากขึ้น เพราะถ้าเราไม่รับความเสี่ยงเลยก็จะโตยาก และถือเป็นระดับที่เรารับได้ ซึ่งปกติธนาคารก็ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว”นายฟิลิป แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวเสริม
สำหรับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น โดยรวมเชื่อในความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ดี แต่ธนาคารก็จะคอยติดตาม และพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบอยู่แล้ว
ยันเปลี่ยนผู้ถือหุ้นไม่กระทบแผน
ส่วนกรณีหากกลุ่มจีอีผู้ถือหุ้นของธนาคารขายหุ้นให้แกกลุ่มอื่น นายฟิลิป แทน กล่าวว่า การเข้ามาของกลุ่มจีอีที่ผ่านมา ถือเป็นข้อดี และธนาคารได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานสากล รอบคอบ รวมถึงการซื้อบางธุรกิจในกลุ่มจีอี เช่น เฟิร์ส ช้อยส์ กรุงศรี ออโต้ เข้ามาก็ทำให้ธนาคารมีธุรกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น และการพัฒนาทางด้านบุคลากรต่างๆ ซึ่งส่วนนี้แม้ผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไป แต่ความแข็งแกร่งด้านต่างๆ ของธนาคารจะยังคงอยู่ และจะไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด
“ณ ปัจจุบันทางผู้บริหารยังไม่ได้รับความคืบหน้าในการขายหุ้นที่เหลือจากกลุ่มจีอีแต่อย่างใด”