เวิลด์แบงก์ ชี้บาทแข็งค่าเร็วช่วงนี้ไม่ใช่ไทยถูกโจมตีค่าเงิน แต่มาจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามามากในเอเชีย และไทย โดยเฉพาะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรระยะสั้น พร้อมระบุ เงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าอยู่แล้ว และแข็งค่าต่อเนื่องมาหลายปี เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีสูงมาก แนะผู้ส่งออกต้องระวังความผันผวน และบริหารความเสี่ยงให้ดี
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงนี้ไม่น่าจะเกิดจากการโจมตีค่าเงิน แต่มาจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามามากในเอเชีย และไทย โดยเฉพาะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าอยู่แล้ว และแข็งค่าต่อเนื่องมาหลายปี เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีสูงมาก จากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ ดังนั้น หากเงินต่างชาติยังไหลเข้าต่อ เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ ซึ่งผู้ส่งออกต้องระวังความผันผวน และบริหารความเสี่ยงให้ดี
ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกคงมีการซื้อประกันความเสี่ยงไว้บ้างแล้ว และที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยก็ปรับตัวได้ดี เพราะในอดีตเงินบาทเคยแข็งค่ามากกว่านี้ แต่การส่งออกยังขยายตัวได้เกินกว่าร้อยละ 10 เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกดี ดังนั้น ปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการส่งออกมากที่สุด คือ การค้าโลก ไม่ใช่การแข็ง หรืออ่อนค่าของค่าเงิน แต่การที่เงินบาทแข็งค่าก็ส่งผลดีต่อภาคเอกชนให้การนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรมีต้นทุนต่ำลงเช่นกัน
“เรื่องการถูกโจมตีค่าเงินบาทคงจะเป็นไปได้น้อย และยังไม่เห็นเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลัก สาเหตุมาจากเงินไหลเข้าเอเชียมาก เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ประเด็นสำคัญ คือ ต้องดูแลไม่ให้ผันผวน เพราะการบริหารความผันผวนนั้นค่อนข้างยาก”
น.ส.กิริฎา กล่าวว่า หากดูค่าเงินบาทที่แท้จริงยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค โดยเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนได้ เพราะยังมีความสามารถในการซื้อดอลลาร์แทรกแซงค่าเงินบาท แต่เอกชนก็ต้องระวัง เพราะเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในรอบนี้ น่าจะเป็นเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งหากต่างชาติถอนการลงทุนจะกระทบให้ค่าเงินบาทอ่อน และผันผวนได้
ด้านนักบริหารเงินธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.73-29.75 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวจากวานนี้ (22 ม.ค.) ต้องจับตาเงินทุนไหลเข้า และมาตรการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) แนะประเมินว่า มีผลให้เงินเยนอ่อนค่าได้หรือไม่ รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา