xs
xsm
sm
md
lg

พลัสฯ แจงปี 55 จุดเปลี่ยนอสังหาฯ ชี้รายใหญ่บุก ตจว. ยกมาตรฐานองค์รวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พลัสฯ เชื่อทิศทางการเติบโตอสังหาฯ หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะ กทม.-ปริมณฑล ระบุหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจ และแหล่งชุมชนยังเนื้อหอม อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่รุก ตจว. เชื่อช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพอสังหาฯ องค์รวม คาดปี 56 ราคาอสังหาฯ โดยเฉลี่ยราคาขยับ 5-10% คอนโดมิเนียมระดับราคา 800,000-3,000,000 บาท ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด เตือนภาคเอกชนควรวางกลยุทธ์ ปลดล็อกปัญหาแรงงานหลังเริ่มเห็นเค้าผลกระทบ

นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า หากเปรียบเทียบภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2555 กับปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเติบโตขึ้นในทุกประเภทอย่างมาก สืบเนื่องจากผู้บริโภคเริ่มฟื้นความมั่นใจจากวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ระดมเผยโฉมโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมอัดแคมเปญการตลาดเพื่อดันยอดขาย จึงช่วยเสริมความคึกคักให้แก่ตลาด รวมทั้งในส่วนการซื้อเพื่ออยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งการซื้อเพื่อลงทุน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

“เมื่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เติบโต ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะธุรกิจซื้อ-ขาย-เช่า ที่เติบโตอย่างมาก ในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้ มีสต๊อกสินทรัพย์เพื่อเสนอขายจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปี 2556 ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยสินทรัพย์ใหม่จะขยายตัวจาก กทม. ไปสู่ปริมณฑลรวมถึงย่านชุมชนที่รายล้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคครบครัน และจังหวัดที่แข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยกำลังซื้อหลักยังเป็นชาวไทยที่ประมาณ 95% ในขณะที่ต่างชาติอยู่ที่ 5%”

นายอนุกูล กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ลงสนามระดับท้องถิ่น จะเป็นการสร้างมาตรฐานการขายใหม่ เช่น ก่อนหน้านี้การทำโฆษณา หรือแม้แต่พัฒนาห้องตัวอย่าง เพื่อจำลองให้ลูกค้าได้เห็นอาจจะไม่มีความสำคัญในการขายระดับท้องถิ่น แต่ปัจจุบัน ความคิดเช่นนี้เปลี่ยนไปเพราะความครบสูตรในเรื่องกลยุทธ์การขายได้จุดกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้น ใครที่ต้องการขายได้ต้องไม่มองข้ามปัจจัยเหล่านี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงปัจจัยใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อทิศทางการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคต แผนแม่บทของภาครัฐในการพัฒนาประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการเติบโต ซึ่งในอนาคตเชื่อมั่นว่า จะเกิดการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ใหม่ๆ ขึ้นตามรอยต่อเมืองเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จังหวัดทางภาคเหนือ ที่เชื่อมต่อพม่าตอนบน และจีน, จังหวัดในภาคตะวันตกที่เชื่อมต่อพม่าตอนล่าง, จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อลาว และจังหวัดในภาคตะวันออกที่เชื่อมต่อกัมพูชา ซึ่งภาพดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้ารับกระแส AEC

น.ส.สมสกุล หลิมศุทธพรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจบริหารงานขายโครงการปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหม่เริ่มมองเห็นความสำคัญของที่ปรึกษาด้านการขายแบบครบวงจรมากขึ้น และผู้ประกอบการหน้าใหม่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่ขยายธุรกิจจากธุรกิจหลักที่มั่นคงแล้วมาสู่การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ทำให้มีที่มาทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในธุรกิจบริหารงานขาย ถือเป็นความแข็งแกร่งของกลไกการพัฒนาแบบ 3 ประสาน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ, บริษัทที่ปรึกษาด้านการขาย และสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบันแหล่งเงินมักให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเลือก Sole Agency ที่มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จมายาวนาน เพื่อลดความเสี่ยงในการขายโครงการ ซึ่งถือเป็นกลไกอัตโนมัติเบื้องต้นในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ประกอบการ และลูกค้าผู้ซื้อโครงการ ปัจจุบัน การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ของผู้ประกอบการรายย่อยจะกระจายตัวอยู่ในเขตรอบนอก กทม. เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงในย่านเขตเศรษฐกิจใหม่

“กลยุทธ์การแก้วิกฤตด้านแรงงาน และศักยภาพการควบคุมค่าใช้จ่าย คือ บทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต” นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคาร และฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พลัสฯ กล่าวและว่า ภาวะการขาดแรงงานจะส่งผลให้บรรดาเจ้าของอาคารต้องเกิดความเครียด ปัจจุบัน หลายองค์กรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเริ่มมอบหมายให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริการ และงานระบบเข้ามาดูแลแบบครบวงจรมากขึ้น

ส่วนการขยายตัวของอาคารสำนักงานนั้น เนื่องจากภายใน 1-2 ปีนี้ เขต CDB ก็ยังคงอยู่ที่เดิม หากยังไม่มีการปรับเรื่องระบบการขนส่งครั้งใหญ่การขยายตัวของอาคารสำนักงานไปยังโซนอื่นๆ ก็ยังคงไม่มีให้เห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีก็แต่เรื่องของการปรับปรุงอาคารเก่าให้ดูสวยงามขึ้น ปรับปรุงเรื่องระบบเพื่อรองรับการทำงานให้ทันสมัย และปลอดภัยมากขึ้น แต่หากมีการปรับเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้นแล้ว โอกาสในการขยายตัวของอาคารสำนักงานไปยังโซนอื่นๆ ก็น่าจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้เช่นกัน การเข้ามาของ AEC ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะองค์กรส่วนใหญ่จะเข้ามาในลักษณะบริษัทสาขาที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีอยู่แล้ว การปรับตัวของอาคารต่างๆ คงไม่มีมากนัก

ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของ น.ส.พรรณวดี โพธิหน่อทอง ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการสายงานบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มองว่าปัญหาด้านแรงงาน และต้นทุนการบริหารที่สูงขึ้น จะเป็นตัวแปรหลักที่ต้องนำมาเป็นหนึ่งในปัจจัยในการกำหนดกลยุทธ์ และทิศทาง การดำเนินธุรกิจในปี 2556

“ในปีนี้ ตลาดของธุรกิจบริหารจัดการอาคารที่อยู่อาศัยโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการที่มีโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวสร้างเสร็จทยอยสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การที่นิติบุคคลโครงการเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแลเรื่องการบริหารจัดการโครงการมากขึ้น ส่งผลให้มีบริษัทเกิดใหม่ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจนี้จำนวนมาก บางบริษัทที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้ขยายธุรกิจจากการเป็นเพียงบริษัทตัวแทนซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์ สู่ธุรกิจการบริหารจัดการอาคารที่อยู่อาศัย เพื่อทำให้การบริการครบวงจรมากขึ้น หากพิจารณาเชิงลึกจะพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากร ปัจจุบัน มีปัญหาขาดแรงงานทั้งในเรื่องพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือแม่บ้านเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบัน คนในต่างจังหวัดเริ่มมีการหางานในเขตภูมิลำเนาของตัวเอง จึงทำให้มีแรงงานมาที่กรุงเทพฯ น้อยลง”

อย่างไรก็ตาม พลัส พร็อพเพอร์ตี้ คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีมาตรฐาน และการพัฒนาอย่างเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของ AEC จะเป็นสะพาน และทางลัดเพื่อสร้างการเรียนรู้ในแบบมาตรฐานสากล ซึ่งเชื่อว่าในเขตอาเซียน ไทยก็ยังเป็นประตูหลัก ในการเชื่อมต่อภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น