xs
xsm
sm
md
lg

ผลาญ 9 หมื่นล้าน!! เสิร์ฟ “รถคันแรก” เพื่อ!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


9 หมื่นล้านบาท!! จากเงินภาษีของประชาชน น่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง?
หากคิดอย่างสร้างสรรค์ จะได้คำตอบจรรโลงใจอีกมากมาย ทั้งขยับขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีส้ม แดง น้ำเงิน ม่วง ฯลฯ ที่วาดฝันไว้หลายปี หวังให้ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ, กว้านซื้อรถเมล์ล็อตใหม่แทนล็อตเก่าๆ ที่วิ่งเอี๊ยดอ๊าดอยู่ตามท้องถนนทุกวันนี้ หรือจะเลือกลงทุนเพิ่ม “รถเมล์ฟรีจากภาษีของประชาชน” ให้ผู้โดยสารมีโอกาสได้นั่งรถฟรีกันถี่ขึ้น ก็ย่อมได้, จะหันมาลงทุนด้านการศึกษา คงช่วยปั้นเยาวชนของชาติที่ด้อยโอกาสได้อีกหลายหมื่นคน ฯลฯ
 
แต่สำหรับผู้บริหารประเทศที่คิดง่ายๆ และชอบทำอะไรง่ายๆ ไม่เหนื่อยสมอง ไม่ต้องสร้างสรรค์ เงินจำนวนเดียวกันนี้ก็จะถูกเผาผลาญให้ร่อยหรอลงไปอย่างน่าใจหายด้วยนโยบาย “ประชานิยม” โดยเฉพาะนโยบาย “รถคันแรก” ซึ่งถึงแม้จะถูกอกถูกใจบรรดาคนอยากมีรถราคาย่อมเยา แต่หลายฝ่ายเตือนว่าหากมองอย่างรู้เท่าทันจะเห็นว่าแนวความคิดนี้มีแต่เสียกับเสีย และรังแต่จะส่งผลร้ายทำลายประเทศให้ยิ่งด้อยพัฒนาไปตามผู้นำที่ไม่มีหัวคิดก้าวหน้า ไม่เห็นคุณค่าเงินภาษีจากหยาดเหยื่อของประชาชน



อดหมด เพราะรถคันแรก
อธิบดีกรมสรรพสามิต “สมชาย พูลสวัสดิ์” เพิ่งออกมาปิดบัญชี เผยยอดจากโครงการรถคันแรก ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2554 ถึง 31 ธ.ค.2555 ว่ามีผู้เข้าร่วมใช้สิทธิ์เกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้หลายเท่าตัว จากแรกเริ่มตั้งเป้าไว้เพียง 5 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนแก่ประชาชนเป็นจำนวน 3 หมื่นล้านบาท แต่ความจริงกลับมีประชาชนแห่เข้ามาลงชื่อถึง 1.3 ล้านราย ตีเป็นเงินภาษีทั้งหมด 9.05 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลได้จ่ายคืนให้แก่ผู้ที่ครอบครองรถยนต์คันแรกครบเวลา 1 ปีไปแล้ว จำนวน 4.7 หมื่นราย คิดเป็นเงินภาษีรวม 3,481 ล้านบาท
 

โครงการรถคันแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยมีรถยนต์เป็นของตัวเอง ได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงภาคธุรกิจประกันภัยและธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย
  

ย่อหน้าข้างต้นคือทัศนะจากฝั่งรัฐบาลผู้บริหารประเทศ แต่ย่อหน้าถัดไปคืออีกหนึ่งทัศนะจากอีกฟากฝั่งทางการเมืองซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน “กนก วงษ์ตระหง่าน” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แจกแจงเอาไว้ผ่านสเตตัสบนเฟซบุ๊ก Kanok Wongtrangan ถึงผลเสียของนโยบายนี้ ผ่านการประมาณตัวเลขสมมติ ในกรณีที่มีประชาชนเข้ามาใช้สิทธิซื้อรถคันแรกจำนวน 8 แสนคน
  

1.ประชาชนจำนวนประมาณ 8แสนคนมีรถยนต์คันใหม่ แต่มีหนี้เพิ่ม 8-9 แสนล้าน (แลกรถกับหนี้) ยังไม่นับว่าต้องเสียค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรต่อเดือน 2.บริษัทต่างชาติขายรถยนต์ได้มากขึ้น 8 แสนคัน กำไรมากขึ้น 3.ถนนใน กทม. มีรถยนต์วิ่งมากขึ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนคัน รถติดมากขึ้นไม่น้อยกว่า 30-45 นาที ถ้ามีอุบัติเหตุ รถจะติดเป็นชั่วโมงๆ
4.เงินภาษีที่ควรจะเก็บได้ 8 หมื่นล้านหายไปเพราะต้องคืนให้คนซื้อรถยนต์คันแรก 5.โอกาสที่คน กทม. จะได้รถไฟฟ้า 5 สายที่ใช้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทหายไปกับตา เท่ากับรัฐบาลเลือกคนซื้อรถยนต์ 8 แสนคัน แทนที่จะเลือกนำภาษีส่วนนั้นมาสร้างรถไฟฟ้าให้คน กทม. กว่า 8 ล้านคน... นี่คือผลงานของรัฐบาลเพื่อไทยที่ทำให้กับคน กทม. และประเทศไทยครับ”




เบือนหน้าหนี... เอาอะไรคิด!
"ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนจนซื้อรถใช้ แต่คือประเทศที่คนรวยยินดีใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (A developed country is not a place where the poor have cars. It's where the rich use public transport.)" คือคำกล่าวของ “เอนริเก้ เพนาโลซา” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกต้า ขณะดำรงตำแหน่งดูแลเมืองหลวงของโคลัมเบีย ได้กล่าวเอาไว้และได้รับการยอมรับจากทั่วทุกมุมโลก
แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ จะเห็นได้ว่าสวนทางกับแนวคิดประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิง แม้แต่มุมมองจากคนญี่ปุ่นยังมองไม่เห็นข้อดีของนโยบายประชานิยมข้อนี้เลย และนี่คือเรื่องราวที่ถูกแชร์เอาไว้บนเฟซบุ๊ก “ดัชนีปากท้องคนไทย” ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าจัดทำขึ้นโดยคณะทำงานพาณิชย์เงาพรรคประชาธิปัตย์ และมีคนกดไลค์แสดงความเห็นด้วยกับข้อความนี้หลายหมื่นคนทีเดียว
 

เมื่อวานได้คุยกับชาวญี่ปุ่นที่ทำงานให้รัฐบาลญี่ปุ่นในไทย สนทนาเรื่องรถในประเทศเรา เขาถามว่าทำไมผู้บริหารคุณถึงอยากให้คนใช้รถเยอะๆ เขาคิดให้แทนเล่นๆ ว่า ข่าวนโยบายรถคันแรกตอนนี้ทะลุ 910,000 คัน สถิติอยู่ที่ 30,000 คันต่อวัน ดังนั้น ครบกำหนดสิ้นปีนี้จะมีรถเข้าโครงการ 1,270,000 คัน คันละ 100,000 บาท เป็นเงินที่รัฐควรจะได้ 127,000 ล้านบาท เขาก็วาดให้ดูว่าทำอะไรให้ประเทศคุณได้มั่ง...
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใต้ หัวลำโพง-บางแค-พุทธมณฑลสายสี่ 49,902 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเหนือ บางซื่อ-ท่าพระ 25,101 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ 55,000 ล้านบาท, สามารถทำสนามบินสุวรรณภูมิได้อีกหนึ่งแห่ง, สร้างรถไฟความเร็วสูงได้ทั้งประเทศเลย หรือจะส่งให้เยาวชนเรียนอนุบาลถึง ป.ตรีฟรี ก็ได้อีก5-10 ปีต่อจากนี้
  
แต่รถออกมา1.27 ล้านคัน เท่ากับพวกคุณแบกภาษีน้ำมัน ไปอีกนานโข เพราะยังไง ปตท.ก็รวยอื้อ รถเยอะใช้เยอะ อ้างได้เยอะรัฐต้องอุดหนุน แถมกินกันเรื่องถนนอีก ต้องขยายเลนกันอีก ประเทศที่เจริญแล้วพยายามให้คนรวยใช้ขนส่งสาธารณะเยอะๆ แทนที่จะแจกรถให้คนจน! นี่มันโลกยุค 2012 นะครับ ไม่ใช่ 2002 เขาถามว่านโยบายนี้ มันมีข้อดียังไง ผู้บริหารไม่เคยพูด โตโยต้า ฮอนด้า เขาเฉยๆ นะ เพราะยังไงเขาก็ขายได้ทั่วโลก และประชาชนก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่ผู้บริหารนี่สิ เอาอะไรคิด!




ระวัง! “ม็อบคืนเงินรถคันแรก”
ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับนโยบายรถคันแรกออกไป จะมีเสียงสะท้อนกลับมาจากภาคประชาชนในทิศทางไม่เห็นด้วยเสมอ หลายรายคัดค้านเรื่องที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีรถขับได้เหมือนๆ กัน แต่ในบางกรณีก็ไม่เป็นเช่นนั้น บางครอบครัวที่มีลูกหลานเยอะและมีคุณสมบัติถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้คืออายุ 21 ปีขึ้นไปและยังไม่เคยซื้อรถมาก่อน ก็สามารถใช้สิทธิกักตุนรถคันแรกด้วยการขอยืมชื่อลูกหลาน ญาติ หรือแม้แต่คนงาน เท่ากับว่าความคิดที่จะกระจายผลประโยชน์ให้เท่าเทียมกัน กลับไม่ทั่วถึงอย่างแท้จริง
 

หรือถ้าจะอ้างการพัฒนาเพื่อความเท่าเทียม ก็เกิดคำถามว่ารัฐบาลควรหันไปนึกถึงคนชราและคนพิการในสังคมจะดีกว่าไหม? หากเปลี่ยนเป็นเงินส่งเสริมรถเมล์ฟรีคงช่วยให้คนทั้งกรุงเทพฯ ได้นั่งรถฟรีสบายใจเฉิบกันทั้งวี่ทั้งวัน หรือจะเปลี่ยนรถเมล์ให้ได้มาตรฐานสากลระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว มีระบบทางลาดให้รถเข็น อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ นึกถึงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในสังคม ย่อมดีกว่าเลือกดึงเงินภาษีของส่วนรวมออกมาถลุงเพื่อเสริมความสะดวกสบายส่วนบุคคล เพื่อให้แต่ละคนมีรถส่วนตัว เพิ่มความเห็นแก่ตัวกันเช่นนี้
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมดีๆ ให้มองเห็นกันบ้าง จากทัศนะของ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการทางการเมืองได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “มีการวิจารณ์ว่านโยบายนี้แก้ปัญหาการขาดแคลนขนส่งมวลชนไม่ได้ นัยของการวิจารณ์แบบนี้คือการหลอกว่านโยบายนี้ทำให้รัฐไม่มีเงินสร้างขนส่งมวลชนที่ดี ทั้งที่ตอนนี้มีการสร้างรถไฟฟ้าหลายสิบสาย มีโครงการรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของขนส่งมวลชนระดับที่จะเห็นผลในอนาคตทั้งนั้น
 

สำหรับคนไม่มีรถและไปไหนมาด้วยขนส่งมวลชนราคาถูกอย่างรถเมล์หรือรถตู้ ผมเชื่อว่าการมีรถคันแรกคือความใฝ่ฝันของพวกเขาครับ ผมเชื่อว่าคนที่ซื้อคันแรกก็คืออดีตคนขึ้นรถเมล์หรือรถตู้แบบนี้ทั้งนั้น เขามีสิทธิใช้ถนนได้เท่ากับคนที่มีรถตอนนี้ เขาต้องการความสะดวกสบายและความเร็วในการเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ต่างจากท่านที่มีรถอยู่ในปัจจุบัน
 

สำหรับท่านที่ผูกขาดการใช้ถนนอยู่ในเวลานี้และอยากแก้ปัญหารถติดไวๆ ท่านมีพันธะทางศีลธรรมที่จะประกาศสละสิทธิ์การใช้รถใช้ถนนให้เป็นเยี่ยงอย่างครับ ตั้งกลุ่มคนมีรถที่จะขอเลิกใช้รถเพื่อแก้ปัญหาจราจรของชาติมาเลยก็ได้ ตั้งกลุ่มคนมีรถที่พร้อมเปิดรถให้คนข้างทางร่วมโดยสารไปกับท่านก็ได้ครับ หรือไม่ก็ตั้งกลุ่มคนมีรถที่จะใช้รถเมล์หรือรถตู้สัปดาห์ละสามวัน... กรุงเทพฯ รถติดเพราะการกระจุกตัวของห้างสรรพสินค้าและคอนโดฯ ในเขตเมืองชั้นใน การไม่มีระบบใช้รถส่วนตัวร่วมกัน ฯลฯ นั่นคือต่อให้ไม่มีนโยบายรถคันแรก กรุงเทพฯ ก็รถติดอยู่ดี
 

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านโยบายนี้จะส่งผลระยะยาวไปในทิศทางไหนกันแน่ บ้างก็คาดการณ์โดยเหตุผลที่น่าเชื่อถือสนับสนุนไว้ว่า อาจส่งผลให้เกิด “ม็อบคืนเงินรถคันแรก” ในอนาคต ประชาชนไปเรียงแถวประท้วงกันหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้คืนเงินหนึ่งแสนบาทค่าภาษี เพราะนโยบายนี้เกิดขึ้นอย่างรีบเร่ง รัฐบาลจึงไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้สำหรับจ่ายคืนประชาชนอย่างพอเพียง บวกกับระบบราชการที่ล่าช้า อาจส่งผลให้ผู้ซื้อรถคันแรกอดใจรอไม่ไหว ลุกขึ้นมาประท้วงเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับแล้วกับผู้รอเงินเยียวยาจากน้ำท่วม

คาดการณ์กันไปถึงขั้นว่า ต่อไปอาจมีนโยบายใหม่ เพิ่มเติมจาก “จำนำข้าว” เป็น “จำนำรถคันแรก” ด้วย เนื่องจากประชาชนผู้ใช้สิทธิ ไม่มีกำลังผ่อนรถคันแรกต่อ ต้องเอารถที่มีอยู่ไปจำนำแล้วให้เจ้าของใหม่ผ่อนแทน หรือร้ายกว่านั้น อาจผุดนโยบาย “ข้าวคำแรก” แทน “รถคันแรก” เนื่องจากประชาชนติดหนี้รัฐบาลจนไม่มีเงินจะซื้อข้าวกินกันอีกต่อไป ต้องขอให้ผู้บริหารประเทศป้อนนโยบายประชานิยมลวงประชาชนต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น...

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE








กำลังโหลดความคิดเห็น