อิตาเลียนไทยอ่วม! ...หากพม่าแก้ไขสัญญาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายหลังงานล่าช้า และปัญหาด้านระดมทุน เชื่อมีผลต่อรายได้ และกำไรในอนาคต มากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่บทสรุป ภาพรวมคาดปีนี้รัฐเปิดประมูลโครงการเพียบ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีส้ม ส่วนต่อขยายบีทีเอส รถไฟรางคู่ และระบบน้ำ ดันหุ้นรับเหมาโดดเด่น
นายชาตรี ศรีสมัยเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด กล่าวถึงกรณีรัฐบาลพม่าต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agreement โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นบริษัทโฮลดิงคอมพานีใหม่ ว่า เรื่องดังกล่าวนับเป็นปัจจัยลบต่อการดำเนินงานของ ITD ไม่ว่าบทสรุปออกมาว่าจะเป็นกลุ่มใหม่เข้ามาดำเนินงาน หรือ ITD จะมีสิทธิในการถือหุ้นในโฮลดิ้งใหม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
“เรื่องนี้เรามองว่าเป็นปัจจัยต่อความคืบหน้าในโครงการทวายของอิตาเลียนไทยฯ ก่อนนี้มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลพม่าไม่ค่อยพอใจเพราะโครงการดังกล่าวมีความล่าช้าทั้งในด้านการดำเนินงาน และการหาพันธมิตรร่วมทุน อย่างไรก็ตามเราต้องรอดูบทสรุปก่อนว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะลงเอยในรูปแบบไหน”
ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งประเมินในเชิงบวกต่อ ITD กับการดำเนินโครงการทวายไว้สูง เพราะเชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยสร้างรายได้ และผลกำไรให้แก่บริษัทจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าหลายแห่งยังไม่ได้บันทึก หรือคาดการณ์กำไรจากโครงการทวายของ ITD อย่างแน่ชัด หรือไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้ามารวมกับคาดการณ์ผลดำเนินงานของบริษัท ทำให้เชื่อว่าในระยะสั้น หากโครงการดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นจริงก็จะไม่มีผลต่อการดำเนินงานของ ITD มากเท่าใด
“เดิมแราแนะนำนักลงทุน เก็งกำไรในหุ้น ITD ตอบรับกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่มีแนวโน้มสดในปีนี้ โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 4.75 บาท แต่ก่อนที่จะมีข่าวออกมา ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 4.80 บาท หรือสูงกว่าที่เรากำหนด ในวอลุ่มซื้อขายจำนวนมาก ทำให้พอมีข่าวเรื่องดังกล่าวปรากฏราคาหุ้นก็เกิดการเทขายลงมา ทำให้เราต้องปรับประมาณการใหม่สำหรับหุ้น ITD เป็นขายทำกำไร”
ส่วนความกังวลว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับกรณีโครงการทวายของ ITD หรือไม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า อยากให้แยกประเด็นดังกล่าวออกไป เพราะเหตุที่เกิดขึ้น และเป็นข่าวอยู่ขณะนี้เกิดจากความล่าช้าในการดำเนินงาน ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นที่ดำเนินโครงการให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วย และยังคงดำเนินในโครงการที่ได้รับอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะไม่มีผลต่อผู้ประกอบการรายอื่นที่จะเข้าไปลงทุนทั้งพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา
สำหรับภาพรวมธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2556 ประเมินว่า จะมีโครงการในภาครัฐให้ผู้รับเหมาเข้าประมูลมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่มีน้อยมาก ซึ่งโครงการในปี 2555 ที่มีความชัดเจน และนับเป็นโครงการขนาดนั้นมีไม่มาก เช่น โครงการรถไฟฟ้า บางซื่อ-รังสิต สัญญาแรก UNIQ ได้รับงานไป ขณะที่สัญญาที่ 2 เป็นของ ITD
ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2556 จะได้เห็นการประมูลงานโครงการภาครัฐเพิ่มเติมมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขยังเป็นรัฐบาลชุดเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีส้ม (มีนบุรี-ตลิ่งชัน) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมูลแค่เฟสแรก (มีนบุรี-กระทรวงวัฒนธรรม) ก่อน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส, โครงการรถไฟรางคู่ที่ล่าช้ามานาน โดยคาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนใน 6 เส้นทางที่เป็นงานด่วน จากทั้งหมด 12 เส้นทาง และคาดว่าสายแรกที่จะเริ่มคือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-แก่งคอย
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากภายหลังจากปลายปี 2554 เกิดภัยน้ำท่วมขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการสรุปเม็ดเงินลงทุนที่แท้จริงระหว่าง 300,000-350,000 ล้านบาท หลังได้มีผู้สนใจผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแล้ว 8 กลุ่ม
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง มองว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยต่อเรื่องดังกล่าว และไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องเร่งรีบทำให้เชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนของโครงการ และโอกาสในการเปิดประมูลเกิดขึ้นได้ในปี 2557
ด้าน บล.ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้น ITD มีประเด็นในด้านลบคือ ข่าวรัฐบาลพม่าต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agreement โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจาก ITD เป็นบริษัทโฮลดิงคอมพานีใหม่ รวมทั้งราคาหุ้นแพง ซึ่ง ITD เป็นบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของไทย ได้เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการนี้ โดยบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (DDC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ITD
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นข่าวบวกเกี่ยวกับ Mega Project ต่างๆ และการได้ลงนามในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการปรับปรุงคันทางรถไฟ มูลค่าโครงการ 951.9 ล้านบาท ทำให้ Backlog ปัจจุบัน สูงถึง 2.4 แสนล้านบาท จึงแนะนำ “ซื้อช่วงอ่อนตัว”
ก่อนหน้านี้ บล.เกียรตินาคิน ให้ความเห็นถึงแนวโน้มธุรกิจของ ITD ไว้ว่า มองบวกจากมูลค่างานในมือที่จะทำสถิติสูงสุดถึง 240,000 ล้านบาท และในอนาคตยังมีโอกาสรับงานใหม่ที่อยู่ระหว่างการประมูล และรอเซ็นสัญญาอีก 70,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจากคุณภาพของงานจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น ในปี 56 ฟื้นตัวจากปี 2555 ที่คาดว่ายังมีผลขาดทุน นอกจากนี้ ยังคงจับตามองเรื่องโครงการทวายที่รัฐบาลเริ่มเดินหน้าเจรจาหาผู้ร่วมทุนให้ด้วย
เช่นเดียวกับ บล.ทรีนีตี้ ที่ประเมินว่า ITD มีงานในมือทำสถิติสูงสุดถึง 235,223 ล้านบาท บวกงานที่ชนะการประมูลกำลังรอเซ็นสัญญาอีก 70,350 ล้านบาท จะสามารถรองรับยอดรับรู้รายได้ของ ITD ได้ถึง 6-7 ปี และยังมีโครงการกำลังศึกษา และเตรียมเข้ายื่นประมูลงานเพิ่มอีก 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้งานในมือมีคุณภาพมากขึ้น
โดยสถานการณ์ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า “เวลานี้พม่าอยากให้เขียน Framework หรือข้อตกลงใหม่ ที่เดิมเขาทำกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เพราะอยากแก้ตรงนั้น เพื่อหาตัวผู้ลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโฮลดิงคอมพานี เพราะเห็นว่าอิตาเลียนไทยฯ ทำงานช้า เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้ ทำให้อยากแก้ไขสัญญาตรงนี้ และเป็นที่สิทธิรัฐบาลพม่าทำได้”
สำหรับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ร่วมลงนาม Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า
โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ถือสัญญาแทนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ แต่ให้เป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทย และเอกชน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระยะเริ่มต้นของทวาย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศพม่า 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งพม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องหานักลงทุนมาช่วย
ส่วนรูปแบบการลงทุนกำหนดไว้ 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ คือ 1.ตั้งโฮลดิงถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดีเพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2.ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว
ล่าสุด ราคาหุ้น ITD เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. ปิดที่ระดับ 4.76 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 2.06% มูลค่าการซื้อขาย 791.924 ล้านบาท