xs
xsm
sm
md
lg

ล้มสัญญา “ทวาย” พม่าเสนอตั้ง บ.ร่วมทุนใหม่ ถือสัญญาแทน “อิตาเลียนไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พม่ารื้อสัญญาทวาย เสนอตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ถือสัญญาแทน “อิตาเลียนไทย” เพราะทำงานช้า-มีปัญหาระดมทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลพม่าต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agree ment โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึก โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นบริษัทโฮลดิงคอมปานีใหม่

“เวลานี้พม่าเขาอยากให้เขียน Framework หรือข้อตกลงใหม่ ที่เดิมเขาทำกับบริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ เขาอยากแก้ตรงนั้นเพื่อหาตัวผู้ลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโฮลดิงคอมปานี เพราะเขาเห็นว่าอิตาเลียนไทยฯ ทำงานช้า เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้ เขาก็อยากแก้ไขสัญญาตรงนี้ และเป็นที่สิทธิรัฐบาลพม่าทำได้”

ก่อนหน้านี้ บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ ได้ร่วมลงนาม Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า

นายอาคมระบุว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ถือสัญญาแทนบริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นว่าบริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ จะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ แต่ให้เป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทยและเอกชน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น

นายอาคมกล่าวว่า เพื่อให้โครงการทวายเป็นไปได้ และจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานในนิคมและใช้ท่าเรือ รัฐบาลพม่าต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก และมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างชายแดนไทยไปยังนิคมอุตสาหกรรมทวาย หากให้เอกชนลงทุนและเก็บค่าบริการเอง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก เอกชนก็จะไม่มาใช้บริการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระยะเริ่มต้นของทวาย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศพม่า 1.9 แสนล้านบาท พม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอิตาเลียน-ไทยฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องหานักลงทุนมาช่วย

ส่วนรูปแบบการลงทุนกำหนดไว้ 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ คือ 1. ตั้งโฮลดิงถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดีเพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2. ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น