xs
xsm
sm
md
lg

คนดูไบสั่งลุยโปรเจกทวาย “นายกฯปู”บินชงแนวคิด SPVร่วมพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ใน วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม2555 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญ คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ใน วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
ในโอกาสการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบหารือกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และร่วมรับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้าโครงการเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเมียนมาร์จะได้ร่วมกันผลักดันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งประเด็นรายละเอียดการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการเชิญชวนนักลงทุนในการร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าว
มีรายงานข่าวความคืบหน้าต่อโครงการทวายด้วยว่า บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)เปิดทางให้รัฐบาลไทย กับ รัฐบาลพม่า เข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจจะใช้วิธี การจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ เอสพีวี ขึ้น จากนั้นให้บริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลพม่าแทน
การที่รัฐบาลจะสอดมือ เข้าไปลงทุน ก็ต้องมีคำตอบให้ประชาชน ถึงความคุ้ม ค่าในการใช้เงินภาษี ไปลงทุน และกฎหมายไทยไม่อนุญาต ให้รัฐบาลไทยไปลงทุนกิจการในประเทศ ต่างๆ ได้โดยตรง ???
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เปิดตัวโครงการท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่บริษัทได้รับสัมปทาน จากรัฐบาลเมียนมาร์ ให้พัฒนานิคม และท่าเรือน้ำลึกทวายบน เนื้อที่ 250 ตารางกิโลเมตร หรือ 2 แสนไร่ ระยะเวลาสัมปทาน 75 ปี
โครงการนี้ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรม ที่ใหญ่กว่า “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” ของไทยใน “ยุคโชติช่วงชัชวาล” กว่า 10 เท่า ครั้งนั้น อีตัลไทย ออกโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ เข้ามาร่วมลงทุนโครงการนี้อย่างเอิกเกริก มีบริษัท Dawai Development Company Limited (DDC) ที่มี บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้ลงทุน โครงสร้างพื้นฐานและ บริหารโครงการ มีการประเมินวงเงินลงทุน โครงการครั้งนั้น 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ต้นปี 2555
แต่โครงการนี้กลับเงียบหายไป กระทั่งมีข่าวว่า Max Myanmar Group ที่ Saw Saw ถือเป็นนักธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับอดีตผู้นำพม่า คือ นายพลตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ในสัดส่วน 25% ในบริษัท DDC ประกาศถอนตัวออกจาก โครงการทวาย
ทำให้โครงการทวายกลาย เป็นจุดสนใจของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ดูไบ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ เจ๊ปูต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ในโครงการนี้ ว่ากันว่า มีการเสนอหลากหลาย แนวคิดที่จะขับเคลื่อนโครงการทวาย เช่น จัดตั้งบริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) หรือข้อเสนอบริษัทร่วมทุนฯ ที่มีผู้ร่วมทุน 3-4 กลุ่มเข้ามาร่วมทุน โดยเฉพาะรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และองค์การความร่วมมือ ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา เข้ามาร่วมหุ้น
ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิด การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 3 ฝ่าย เพื่อริเริ่มฝัง “เสาเข็ม” ลงทุนโครงการทวาย มาจากทีมที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทาง การให้การสนับสนุนทางการเงิน โครงการทวาย และอยู่ระหว่างพิจารณา โครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสม การถือหุ้นระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชนไทย กับญี่ปุ่น และพม่า รวมทั้งแหล่งเงินลงทุน ที่เหมาะสม
แนวคิดของทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คือ รัฐบาลไทยเมียนมาร์นำร่อง “ลงขัน” งบประมาณจำนวนหนึ่ง ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปก่อน เพื่อ “จุดชนวน” สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองในพม่าจะไม่ส่งกระทบต่อการลงทุนนิคมฯ อย่างแน่นอน แต่ .... การใช้งบประมาณจากภาษีคนไทย ไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ คือ เมียนมาร์ และเป็นกิจการของเอกชนนั้น คนไทยผู้ที่เสียภาษี จะได้ประโยชน์อย่างไร
ล่าสุดแนวคิดการลงทุนไขว้เขว ไปจากแนวทางที่พันศักดิ์คิดไว้ เมื่อ นิวัฒน์ธำรง ระบุหลังการประชุมหารือ กับรัฐมนตรีของเมียนมาร์ ว่า การลงทุนโครงการทวาย เป็นเรื่องของธุรกิจ รัฐบาลไม่มีแผนที่จะใส่เงิน งบประมาณไปสนับสนุนโครงการนี้ แต่ให้เป็นเรื่องของเอกชน และรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น
รูปแบบการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นไปตามแนว ที่นิวัฒน์ธำรง ระบุว่าไว้ จะมีปัญหาที่ตามมา คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบราง ระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึก ต้องใช้เวลาลงทุนอย่างน้อย 3-5 ปี กว่าเอกชนจะมาเช่าพื้นที่ สร้างโรงงานและเก็บค่าเช่าได้ ก็ต้องใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป จึงไม่มีทางที่เอกชนหรือ รัฐวิสาหกิจจะแบกรับต้นทุน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นได้
ในขณะที่การให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ระยะยาวจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคาร ADB หรือไจกา ต้องมีรัฐบาลของประเทศนั้นๆ หนุนหลัง การที่บอกว่ารัฐบาลจะเป็นเพียง ผู้ประสานงานเท่านั้น จึงเป็นไปได้ยาก
จากการแถลงของนายชัชชาติ นายกฯ เตรียมบินไปพม่า ถกรูปแบบการลงทุน "ทวาย" 17 ธ.ค. นี้ โดยจะมีการหารือกันในเรื่องของด้านการลงทุน รูปแบบการลงทุน ระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภาษี การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน รวมทั้งการจ้างงาน ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน จะใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท สำหรับเฟส 1 และจะเริ่มการดำเนินการในปีหน้า นอกจากนี้ ชุมชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากบริเวณดังกล่าวประมาณ 4,600 หลังคาเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น