xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คมนาคม ต้อนรับ รมต.เมียนมาร์ดูงานนิคมฯ ท่าเรือ โรงไฟฟ้าระยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.คมนาคม พร้อมคณะต้อนรับรัฐมนตรีสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ดูงานนิคมฯ ท่าเรือและโรงไฟฟ้า จ.ระยอง
ระยอง - รมช.คมนาคม พร้อมคณะให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ดูงานนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือและโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง หวังนำกลับไปพัฒนาเชื่อมโยงร่วมกัน

วันนี้ (8 พ.ย.) ที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง นายประเสริฐ จันทร์รวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.ณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทวาย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตสถานทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง และนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยองให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์

ประกอบด้วย H.E.U Aye Myint รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม H.E. U Ham Sein รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม H.E. U Myo Aung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะ ที่เดินทางมาเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง

นายประเสริฐ จันทร์รวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การเดินทางมาเยี่ยมชมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงไฟฟ้า บีแอลซีพี ของคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ภายในนิคมอุตสาหกรรม การรักษาความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การดำเนินงานท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าเป็นหลัก

การดูงานครั้งนี้เพื่อจะนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์กำลังพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gate Way) แห่งใหม่ของโลกตะวันตก และตะวันออก

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากโครงการนี้ถือเป็นศูนย์กลางระบบลอจิสติกส์และการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามัน ไปสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถส่งสินค้าทั้งไปและกลับทางน้ำ ผ่านไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยพัฒนาการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตในระยะยาว
ท่าเรือ เป็นส่วนหนึ่งที่เดินทางมาศึกษาดูงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น