xs
xsm
sm
md
lg

แบ่งเค้กใหม่ “ทวายโปรเจกต์” ที่สุดก็เสร็จก๊วนชินวัตร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเดินทางไปเยือนพม่าเพื่อผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอย่างถี่ยิบในช่วงเวลาไม่กี่เดือนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกับวางเป้าหมายเริ่มระดมทุนและลงมือก่อสร้างภายในเดือน เม.ย. 2556 โดยที่ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของพม่า ก็รอวันนั้นอย่างจดจ่อ เป็นสัญญาณบ่งบอกชัดว่าทุนพวกพ้องเครือข่ายชินวัตรเอาแน่กับอภิมหาโปรเจกต์นี้ และอิตัลไทยก็ต้องยอมให้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ด้วย

ก็ต้องรอดูกันว่า โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และ “เปรมชัย กรรณสูตร” แห่งอิตัลไทย จะถูกทุนพวกพ้องชินวัตรฮุบทวายโปรเจกต์ เหมือนกับที่ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ต้องสูญเสียทีพีไอ แม้ว่าบริบทและเงื่อนไขหลายอย่างจะแตกต่างกันก็ตาม หรือไม่

ในการเดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคล้าย “ครม.น้อย” ระหว่างวันที่ 14-17 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมานั้น นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 4 เดือน และหากนับกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพบประธานาธิบดีพม่าด้วยก็ถือว่าการพบปะระหว่างคณะผู้นำและอดีตผู้นำของไทยกับผู้นำพม่าในการเจรจาหารือทวายโปรเจกต์ก็นับเป็น 5 ครั้ง เรียกได้ว่าคุยกันถี่ยิบ จนไม่น่าจะเป็นเพียงความร่วมมือแบบปกติธรรมดา

เพราะนับจากปลายเดือน ก.ย. 2555 ที่ผู้นำไทยและพม่าได้เจอกันที่นิวยอร์กในงานประชุมประจำปีสหประชาชาติ และได้เจรจาทวิภาคีที่นำไปสู่ความตกลงจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมสองชาติ พร้อมกับจัดตั้งอนุกรรมการ 6 คณะ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาชุมชน กฎระเบียบ และการเงิน

ถัดมาเมื่อในวันที่ 7 พ.ย. 2555 “คณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง” ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานร่วมฝ่ายไทย และนายญาณ ทุน รองประธานาธิบดีพม่า ประธานร่วมฝ่ายพม่า ก็มีการประชุมกันครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลของไทย โดยวันนั้นนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ

จากนั้น วันที่ 8 พ.ย. 2555 ทักษิณก็บินเข้าพบประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่กรุงเนปิดอว์ สหภาพพม่า โดยนายนพดล ปัทมะ บอกกับสาธารณะว่าเป็นการเดินทางไปเยือนเพื่อนเก่าแต่ไม่มีใครเชื่อว่าทักษิณจะไม่คุยเรื่องทวายโปรเจกต์กับเต็ง เส่ง

ต่อมานายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้พบปะหารือทวิภาคีกับผู้นำพม่าในการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15-20 พ.ย. 2555

และล่าสุดคือ การเดินทางไปเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระหว่างวันที่ 14-17 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา ของคณะนายกรัฐมนตรีของไทย

ชั่วระยะเวลาแค่ 4-5 เดือน อะไรที่ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปเจรจาหารือกับผู้นำพม่าบ่อยครั้ง และมีความมั่นอกมั่นใจว่าจะสามารถระดมทุนและเริ่มก่อสร้างได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อิตัลไทยกอดสัมปทานนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ยังหันซ้ายหันขวาไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งการหาผู้ร่วมทุนและการก่อสร้าง

จนกระทั่งมีนายหน้าข้ามชาตินาม “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาช่วยวิ่งเต้นและดึงเอากลุ่มทุนใหญ่อย่างเครือ ปตท. และรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท รวมทั้งออกแบบให้รัฐบาลน้องสาวออกหน้าผลักดันโดยใช้ทุกองคาพยพของรัฐไทยเข้าไปช่วยสานฝันให้เป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีหรือที่นายหน้าข้ามชาติจะไม่ถือโอกาสตักตวง เพราะหากอ่านเกมหลังจากการเยือนทวายโปรเจกต์รอบล่าสุดนี้ ชัดเจนว่ารัฐบาลตั้งใจบี้อิตัลไทยให้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ผ่านการจัดตั้งบริษัทลงทุนใหม่ เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศเข้าร่วม

ซึ่งดูเหมือนว่าอิตัลไทยจะไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องยอมทำตามแต่โดยดี เพราะแรงกดดันจากฝ่ายรัฐบาลพม่าตลอดช่วง 2 ปีที่อิตัลไทยทำอะไรไม่ได้ ก็บอกชัดแล้วว่า หากแข็งขืนมีสิทธิ์หลุดจากโครงการนี้ไปได้ง่ายๆ เพราะการดำเนินงานไม่มีความคืบหน้า ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการให้สัมปทาน แถมล่าสุด รัฐบาลพม่ายังบอกกับอิตัลไทยว่าจะปรับลดพื้นที่สัมปทานลงถึง 50 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31,250 ไร่

ในการออกมาเปิดเผยของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปเยือนทวายโปรเจกต์ครั้งล่าสุด ก็บ่งบอกเช่นนั้น

นายชัชชาติบอกว่า ในการหารือของคณะรัฐบาลพร้อมกับนักธุรกิจไทยร่วมกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ผ่านมานั้น ชัดเจนว่าทางพม่าต้องการนักลงทุนจากประเทศที่ 3 เข้ามาร่วมลงทุนกับอิตัลไทยที่ปัจจุบันถือหุ้นทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเล็งดึงกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) มาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นายชัชชาติยังบอกว่า โครงการต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 272,989 ล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศพม่า 196,700 ล้านบาท ซึ่งพม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท อิตาเลียนฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งทางอิตาเลียนฯ อาจรับภาระไม่ไหวจึงต้องการหานักลงทุนมาช่วย และอาจจะต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโครงการใหม่ด้วย

ส่วนลงทุนขณะนี้มี 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ในคือ 1. ตั้งโฮลดิ้งถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน, ท่าเรือ, นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดีเพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2. ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ

นอกจากนี้ ทางพม่ายังต้องการปรับลดพื้นที่โครงการลงประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร จากทั้งหมด 204.5 ตารางกิโลเมตร แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำประโยชน์อะไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อตกลงระหว่างพม่ากับอิตาเลียนไทยฯ โดยจะต้องมีการศึกษาข้อดีและข้อเสียผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน โดยเบื้องต้นเอกชนมองว่าการลดขนาดพื้นที่อาจทำให้โครงการมีปัญหาได้ ดังนั้นจะต้องมีการประชุมในระดับคณะกรรมการประสานงานร่วม (JCC) อีกครั้งในเดือน ก.พ. 2556

“เชื่อว่าการดำเนินโครงการภาพรวมในเฟสแรกน่าจะเสร็จทันตามแผนในปี 2558 โดยงานก่อสร้างเฉพาะท่าเรือขนาดเล็กมีความคืบหน้าแล้ว 40% แต่ยังมีหลายโครงการยังไม่มีการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก, ปิโตรเคมี ในเรื่องไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษารายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง” รมว.คมนาคมยืนยัน

ถึงนาทีนี้ อิตัลไทยต้องยอมให้กลุ่มทุนอื่นเข้ามาแบ่งเค้ก หรือเรียกให้ชัดก็คือ เข้ามาโอเปอเรตโครงการทั้งหมดแทน ส่วนอิตัลไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างก็รับงานเฉพาะในส่วนนี้ไป ส่วนใครจะเป็นผู้ออกหน้าแทนอิตัลไทยหรือจะยังเป็นอิตัลไทยแต่เพียงชื่อ ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังจากเดือน ก.พ. 2556 เมื่อแผนการจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสร็จสิ้น

โดยขณะนี้คณะกรรมการประสานงานร่วมฯ (JCC) กำลังขะมักเขม้นทำงานทบทวนข้อมูลเชิงเทคนิคและประเด็นต่างๆ ที่ยังต้องหาข้อสรุป เช่น รูปแบบทางการเงินเพื่อการระดมทุน การออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และเงื่อนไขบางประการที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ คาดว่าคณะอนุกรรมการร่วมพม่า-ไทย 6 สาขาจะจัดทำรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือน ก.พ. 2556 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการร่วมระดับสูงฯ (JHC) พิจารณาเพื่อลงนามในข้อตกลง Framework Agreement ฉบับใหม่ และ Sectorial Agreement ทั้งหมดภายในเดือน มี.ค. 2556 โดยคาดว่าจะเริ่มระดมทุนและดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน เม.ย. 2556 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ย้ำว่า สรุปภาพรวมและแผนการลงทุนทั้งหมด เชื่อว่าคงจะมีความคืบหน้าในเดือน ก.พ. และคาดว่าเดือน เม.ย. ปี 56 คงจะเห็นความชัดเจนที่จะพร้อมในการเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย และอาจจะมีการก่อสร้างบ้าง ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำงานของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ไทยได้แจ้งทางพม่าว่าฝ่ายไทยได้มีแผนที่จะเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ทวาย เพื่ออำนวยความสะดวกในส่วนของการให้ข้อมูลและการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

ฟังดูแล้ว คล้ายๆ กับว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของน้องสาวทักษิณ เข้าเทกโอเวอร์ทวายโปรเจกต์จากอิตัลไทยกลายๆ เพียงแต่ว่าการลงทุนต้องดำเนินการภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัทเอกชน ส่วนเอกชนหลักหลังจากนี้จะยังเป็นอิตัลไทยหรือนอมินีหน้าใหม่เดี๋ยวก็รู้

โปรเจกต์ทวายจะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหนจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลพม่า กลุ่มทุนอิตัลไทย รัฐบาลไทย และทุนญี่ปุ่น ว่าจะเอาด้วยมากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังอิตัลไทยก็ยอมรับว่าไม่มีทางทำได้สำเร็จ

“นักลงทุนไทยวิตก และลังเลเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองของพม่า และการระดมทุน” นายประวีร์ โกมลกาญจน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทอิตัลไทย ระบุ และว่ามีโอกาสน้อยที่ธนาคารไทยจะปล่อยกู้หากเป็นการลงทุนในประเทศอื่น โดยเฉพาะในพม่า

ส่วนนักลงทุนพม่าที่มีศักยภาพก็รู้สึกไม่วางใจต่อโครงการนี้เช่นกัน ตามที่นักธุรกิจจากนครย่างกุ้งได้ระบุไว้ “เราไม่กล้าที่จะลงทุนที่นั่นเพราะค่าใช้จ่าย เราจะต้องจ่ายในอัตราเงินเดือนของไทย ซึ่งโครงการไม่ได้ให้ประโยชน์แก่พม่ามากนัก ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ฝ่ายไทย”

นอกจากนั้นแล้ว ไม่เฉพาะแค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในฝั่งพม่าต้องใช้เงินมหาศาล ทางฝั่งไทยก็ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปเชื่อมโยงด้วยเช่นกัน

นายชัชชาติให้รายละเอียดว่า เบื้องต้นฝั่งไทยจะมีการลงทุนประมาณ 76,289 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร งบประมาณ 45,510 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนอีกประมาณ 70 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือไม่ โดยดูจากโครงการทวายว่าจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ และการเชื่อมต่อทางรถไฟนั้นภาคเอกชนมองว่าหากมีเส้นทางรถไฟจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือทวายต่ำกว่าทางรถยนต์ ดังนั้นอาจจะขอให้ปรับแผนโดยเร่งรัดการลงทุนทางรถไฟจากเดิมที่อยู่ในเฟสสุดท้ายปี 2563 มาดำเนินการในเฟสแรกก่อนเพื่อให้พร้อมรองรับการขนส่งสินค้า

ส่วนทางรถไฟนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องหาข้อสรุปว่าจะก่อสร้างตามแบบที่พม่าต้องการ คือ รางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 (Standard Gauge) เพื่อสะดวกในการเชื่อมต่อกับรถไฟประเทศจีน ขณะที่ไทยมองว่า รางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) เหมาะสมกว่า เพราะรถไฟในประเทศพม่าและของไทยเป็นราง 1 เมตร สามารถก่อสร้างเชื่อมต่อกันได้เลย แต่หากเป็น 1.435 เมตร อาจจะต้องเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเส้นทางของไทยจะต้องขยายจากเส้นทางสายใต้ไปเชื่อมต่อ

เมื่อออกแรงผลักดันกันอย่างเต็มที่ ผู้นำของสองชาติเชื่อมั่นว่าจะทำให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ โดยซึ่งการลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายระหว่างอิตัลไทยกับรัฐบาลพม่า ตามระยะเวลาการเช่าที่ดินมากกว่า 75 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ครอบคลุมพื้นที่ 4 แสนไร่ พร้อมด้วยถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-พม่า รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทย-พม่า วงเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท

ถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษนี้ของภูมิภาคนี้ ที่กลุ่มก๊วนทักษิณจ้องตาเป็นมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น