xs
xsm
sm
md
lg

พม่าจ่อลดพื้นที่ทวายดึงญี่ปุ่นร่วมทุนดันเกิดตามแผน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เผยพม่าจ่อปรับแผนลงทุนทวาย ลดขนาดพื้นที่ลง 50 ตร.กม. เล็งญี่ปุ่นร่วมทุนอิตาเลียนฯ หวังเงินกู้ไจก้าดอกเบี้ยต่ำหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเร่งพัฒนาได้เร็วขึ้น “ชัชชาติ” เผยข้อกังวลการรื้อย้ายหมู่บ้าน 4 พันหลังคาเรือนที่ยังล่าช้า ส่วนการเชื่อมมอเตอร์เวย์และทางรถไฟเข้าทวายวงเงิน 3 หมื่นล.ยังไม่ตัดสินใจ ต้องประเมินความคุ้มค่าก่อน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลพร้อมนักธุรกิจไทยเดินทางเยือนพม่าและหารือร่วมกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ทางพม่าต้องการนักลงทุนจากประเทศที่ 3 เข้ามาช่วยร่วมลงทุนกับทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นทั้ง 100% เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น นักลงทุนญี่ปุ่น ที่มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งจะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความเป็นไปได้และต้นทุนถูกกว่าแหล่งเงินกู้อื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 7% ที่จะมีผลกระทบต่อค่าผ่านทางและค่าบริการท่าเรือ

นอกจากนี้ ทางพม่ายังต้องการปรับลดพื้นที่โครงการลงประมาณ 50 ตารางกิโลเมตรจากทั้งหมด 204.5 ตารางกิโลเมตร แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำประโยชน์อะไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อตกลงระหว่างพม่ากับอิตาเลี่ยนไทย โดยจะต้องมีการศึกษาข้อดีและข้อเสียผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน โดยเบื้องต้นเอกชนมองว่าการลดขนาดพื้นที่อาจทำให้โครงการมีปัญหาได้ ดังนั้นจะต้องมีการประชุมในระดับคณะกรรมการประสานงานร่วม (JCC) อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2556

นายชัชชาติกล่าวว่า โครงการต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 272,989 ล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศพม่า 196,700 ล้านบาท ซึ่งพม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท อิตาเลียนฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งทางอิตาเลียนฯ อาจรับภาระไม่ไหวจึงต้องการหานักลงทุนมาช่วย และอาจจะต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโครงการใหม่ด้วย ส่วนลงทุนขณะนี้มี 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ในคือ 1. ตั้งโฮลดิ้งถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน, ท่าเรือ, นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดีเพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2. ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ

“ตอนนี้ที่ต้องใช้เงินมา คือ การเวนคืนย้ายหมู่บ้านที่มีประมาณ 4,000 หลังคาเรือน โดยรื้อย้ายไปได้เพียง 400 หลังคาเรือนเท่านั้น คาดว่าจะใช้ประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,500 ล้านบาท และหากดำเนินการล่าช้า ก็จะยิ่งใช้งบประมาณสูงขึ้น เพราะราคาที่ดินในพื้นที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับในฝั่งไทยนั้นจะมีการลงทุนประมาณ 76,289 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร งบประมาณ 45,510 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนอีกประมาณ 70 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือไม่ โดยดูจากโครงการทวายว่าจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ และการเชื่อมต่อทางรถไฟนั้นภาคเอกชนมองว่าหากมีเส้นทางรถไฟจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือทวายต่ำกว่าทางรถยนต์ ดังนั้นอาจจะขอให้ปรับแผนโดยเร่งรัดการลงทุนทางรถไฟจากเดิมที่อยู่ในเฟสสุดท้ายปี 2563 มาดำเนินการในเฟสแรกก่อนเพื่อให้พร้อมรองรับการขนส่งสินค้า

นายชัชชาติกล่าวว่า ประเด็นทางรถไฟนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องหาข้อสรุปว่าจะก่อสร้างตามแบบที่พม่าต้องการ คือ รางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 (Standard Gauge) เพื่อสะดวกในการเชื่อมต่อกับรถไฟประเทศจีน ขณะที่ไทยมองว่า รางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) เหมาะสมกว่า เพราะรถไฟในประเทศพม่าและของไทยเป็นราง 1 เมตร สามารถก่อสร้างเชื่อมต่อกันได้เลย แต่หากเป็น 1.435 เมตร อาจจะต้องเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเส้นทางของไทยจะต้องขยายจากเส้นทางสายใต้ไปเชื่อมต่อ

โดยเชื่อว่าการดำเนินโครงการภาพรวมในเฟสแรกน่าจะเสร็จทันตามแผนในปี 2558 โดยงานก่อสร้างเฉพาะท่าเรือขนาดเล็กมีความคืบหน้าแล้ว 40% แต่ยังมีหลายโครงการยังไม่มีการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก, ปิโตรเคมี ในเรื่องไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ศึกษารายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม โครงการทวายจะเกิดตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมองในแง่การตลาดให้มากขึ้นจากที่ผ่านมาจะให้ความสนใจแต่เรื่องวิศวกรรมโดยเฉพาะผู้ลงทุนที่เข้มแข็งและลูกค้าที่จะใช้บริการ ส่วนไทยถือเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในด้านเทคนิคเพราะมีประสบการณ์มากกว่า และเป็นการมองประโยชน์ของภูมิภาคมากกว่าของพม่าหรือของไทยโดยหากโครงการทวายไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนโครงการต่างๆ ในส่วนของไทยเพื่อเชื่อมต่อก็คงไม่ทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น