xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คมนาคม ดันซื้อรถเมล์ NGV 3 พันคันเข้า ครม.อังคารหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  (แฟ้มภาพ)
“ชัชชาติ” ดันชื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท เข้า ครม. อังคารหน้า อ้างคุ้มกว่าเช่าซื้อชัวร์ เปิดราคารถร้อนคันละ 3 ล้าน รถแอร์ 4 ล้าน เชื่อทำได้ตามแผนปีหน้า ขสมก.กำไรแน่ หลังติดลบไปแล้ว 7 หมื่นล้าน รับพม่าเล็งลดขนาด “ท่าเรือทวาย” ยันไทยไม่เห็นด้วย ขอถกก่อนสรุป มี.ค.นี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ม.ค. 56 กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,183 คัน แบ่งทั้งรถเมล์ร้อนราคาคันละ 3 ล้านบาทต่อคัน และรถเมล์แอร์ 4 ล้านบาทต่อคัน ในวงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างราคาของรถเมล์ร้อน และรถเมล์แอร์ยังมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถจัดซื้อรถเมล์แอร์ได้อย่างเดียว โดยโครงการนี้มีความจำเป็นเนื่องจากในปัจจุบัน ขสมก.ประสบปัญหารถเมล์ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน เนื่องจากมีรถเสียกว่าร้อยละ 40 ของรถเมล์ทั้งหมดกว่า 3,000 คัน ทำให้มีรถให้บริการได้เพียง 2,500 คันเท่านั้น

“ยืนยันการจัดซื้แจัดจ้างรถเมล์เอ็นจีวีในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะจะเป็นการซื้อขาด เนื่องจากเห็นว่ารถเมล์ที่จัดซื้อส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานเพียง 17-20 ปี ดังนั้น หากจะใช้วิธีการเช่าซื้อจะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเมื่อหมดสัญญาเช่า ขสมก.จะขาดแคลนรถเมล์ให้บริการประชาชน”

นายชัชชาติกล่าวว่า หาก ครม.อนุมัติให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีในครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการดำเนินการของ ขสมก.ลดลง โดยเฉพาะค่าน้ำมันดีเซลจากวันละ 200 ล้านบาทต่อเดือน เหลือเพียง 100 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมกันนี้หากสามารถบริหารจัดการพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการลดปริมาณพนักงานที่ปัจจุบันเฉลี่ย 4 คนต่อรถเมล์ 1 คัน ให้เหลือ 2.3 คนต่อคัน โดยไม่ปลดพนักงาน แต่จะให้เกษียณอายุตามอายุงาน และเพิ่มเทคโนโลยีในการดำเนินการแทนที่ เชื่อว่าจะทำให้ภายในปี 2557 ผลประกอบการของ ขสมก.จะเป็นกำไรได้ประมาณ 266 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ขาดทุนสะสมประมาณ 70,000 ล้านบาท

นายชัชชาติยังเปิดเผยด้วยว่า กระทรวงคมนาคมยังจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามสัญญาที่ 1-3 ซึ่งหากมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดีจะสามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วเสร็จภายใน 3 ปี รวมไปถึงกรณีที่ทางพม่ามีแผนลดพื้นที่โครงการของท่าเทียบเรือทวายลงนั้น เบื้องต้นได้มีการหารือกับประเทศพม่าแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังมองว่าขนาดพื้นที่เดิมที่ตั้งไว้เหมาะสมแล้ว ทั้งในเรื่องของการรองรับปริมาณเรือขนส่งสินค้าที่จะมาใช้บริการ และการจูงใจนักลงทุนจะเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทวาย อย่างไรก็ตามคาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันภายในเดือน มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐ นายชัชชาติกล่าวว่า คงไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนสัญญาการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว แม้ว่าราคาแค่แรงขั้นต่ำที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1-2 ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น แต่ในส่วนของสัญญาใหม่ที่เตรียมเซ็นนั้น อาจจะต้องมีผู้ประกอบการขอทบทวนต้นทุนการก่อสร้างโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อม เพราะถือเป็นปัจจัยต้นทุน ณ ปัจจุบันมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น