xs
xsm
sm
md
lg

คลังลั่น “หนี้สาธารณะของไทย” ไม่ใช่ระเบิดเวลา อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองปลัดคลัง ชี้แจง “หนี้สาธารณะของไทย” ไม่ใช่ระเบิดเวลา ยืนยันที่ระดับ 44% อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง 60% ของจีดีพี สามารถกู้เพิ่มได้ถึง 60% มั่นใจ นโยบายการคลังรัดกุมเพียงพอ ระบุแยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยลดภาระแล้ว ไม่น่าห่วง

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา “หนี้สาธารณะระเบิดเวลา หรือยากระตุ้นเศรษฐกิจ” จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 44 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 102 สหรัฐฯ ร้อยละ 100 ดังนั้น ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศจะสูง หรือต่ำขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เพราะหนี้ทั้งหมด 4.9 ล้านล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของรัฐบาลที่กู้มาโดยตรง 2.3 ล้านล้านบาท ที่เหลือ 1 ล้านล้านบาทเป็นการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงินของรัฐ และภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.17 ล้านล้านบาท แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังร้อยละ 60 ของจีดีพี และอยู่ในสถานะที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ เพราะภาระหนี้ต่องบประมาณกำหนดกรอบไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด

ขณะที่ปัจจุบัน การชำระหนี้มีภาระต่องบประมาณเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปีเนื่องจากรัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมาย ธปท. เพื่อโอนหนี้ให้ไปอยู่ในการดูแลของ ธปท. 1.17 ล้านล้านบาท หลายรัฐบาลที่ผ่านมาต้องจัดตั้งงบประมาณชำระหนี้สูงถึงร้อยละ 12-13 ของงบประมาณทั้งหมดโดยเป็นภาระดอกเบี้ย 70,000-80,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าปัญหาดังกล่าวคลี่คลายไปมากอีกทั้งเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ระบบราง เมื่อเงินกู้ถูกนำไปใช้จริงให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์จะสามารถลดต้นทุนผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ จากร้อยละ 18 ลดลงต่อเนื่อง และแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ดังนั้น ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจึงไม่มีปัญหาการกู้เงินโดยเฉพาะตลาดในประเทศขณะนี้ ทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดทุน และตลาดเงินของธนาคาร 3 เสาหลักดังกล่าวโดยการกู้เงินผ่านธนาคารยอมรับว่า 3 แหล่งทุนดังกล่าว มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของจีดีพี ยังรองรับการกู้เงิน และช่วยให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งได้โดยไม่ใช่ระเบิดเวลาตามที่หลายฝ่ายกังวล

อย่างไรก็ตาม นายจักรกฤศฏิ์ ยอมรับว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลขาดทุนบ้างแต่หากขาดทุน 100,000 ล้านบาท เทียบเท่าร้อยละ 1 ของจีดีพี หากรัฐบาลทำต่ออีก 2 ปี การขาดทุนจะถึงร้อยละ 1-2 ของจีดีพี อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 50 เชื่อว่ารัฐบาลจะมีทางออกในการบริหารจัดการเพราะยอมรับว่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม คงจะมีแนวทางชดเชย หรือดูแลโครงการดังกล่าว เพื่อหาทางระบายข้าวที่รับจำนำมาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการระบายข้าวออกของรัฐบาล

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้ประเมินหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในช่วง 6-7 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 และนำผลลบจากการจำนำข้าวมารวมด้วย จะทำให้หนี้สาธารณะปี 2562 สูงถึงร้อยละ 65 โดยเป็นห่วงความเสี่ยงทางการคลังจากการใช้จ่ายของรัฐเพิ่มเร็วกว่ารายได้ที่มุ่งไปในโครงการประชานิยมและการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุ รวมถึงสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าที่ต้องการใช้เงินเพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท จึงต้องบริหารจัดการให้รอบคอบ ยอมรับการกู้เงินเป็นสิ่งที่ดีหากใช้ลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากยังมีปัญหาการทุจริตรั่วไหลขาดวินัยการคลังจะเกิดผลเสียตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น