“อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ไม่รอด ประเดิมเทรดวูบต่ำกว่าราคาจอง 0.40 สตางค์ ปิดที่ 3.80 บาท วอลุ่มเทรด 2.2 พันล้าน โบรกฯ ชู 3 ปัจจัยลบทำหุ้นเต็มมูลค่า 1.ได้เงิน IPO มา 5.6 พันล้านบาท แต่นำไปชำระหนี้ KTB ถึง 3 พันล้าน เหลือเงินขยายกิจการน้อย 2.แผนจะซื้อหุ้น ADO ในส่วนที่เหลืออีก 48.3% ใช้เงิน 1 พันล้านบาทมีความเสี่ยง และ 3.กำไรในงวดครึ่งปีแรก 2556 คาดว่าจะน้อย
ความเคลื่อนไหวการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรก(7 ธ.ค.) ของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) พบว่า ปิดที่ 3.80 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ -9.52% จากราคาขาย IPO ที่ 4.20 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,219.01 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 4.14 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 4.28 บาท และราคาลงต่ำสุด 3.80 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ANANA บทวิเคราะห์จากหลายบริษัทมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป เริ่มต้นด้วย บล.เกียรตินาคิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ “ถือ” หุ้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ให้มูลค่าเหมาะสม 4.40 บาท การพลิกฟื้นของผลประกอบการ สถานะทางการเงินแข็งแรงขึ้นหลังการเพิ่มทุนเพื่อนำไปชำระเงินซื้อหุ้นให้แก่ TMW ได้ทันตามกำหนด ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้น และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นพลิกกลับเป็นบวก แต่เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในกลุ่มเดียวกัน มองว่า ANAN ยังดูน่าสนใจน้อยกว่าโดยเฉพาะเรื่องเงินปันผลที่คาดว่าจะยังไม่สามารถจ่ายได้จนกว่าจะปี 2557 นอกจากนี้ ยังคงกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงจากการรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร และการโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ที่ต่อเนื่องในอนาคต แต่คาดว่า ผลประกอบการของ ANAN จะเริ่มกลับมามีกำไรได้ในปี 2556 เป็นต้นไป
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ให้คำแนะนำเป็นไปในเชิงลบคือ “เต็มมูลค่า” ในหุ้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) กำหนดราคาพื้นฐานไว้ที่ 4.17 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาจอง และประเมินด้วย P/E ปี 56 ที่ 15 เท่า คาดว่าทางบริษัทยังจะไม่จ่ายปันผลในงวดปี 55 และ 56 เพราะอยู่ในช่วงการลงทุน ซึ่ง P/E ปี 56 ที่ราคาจองถือว่าไม่ถูกเป็น 15.2 เท่า
นอกจากนี้ เห็นปัจจัยลบ 3 ประการคือ 1) บริษัทได้เงิน IPO มา 5.6 พันล้านบาท แต่นำไปชำระหนี้ KTB ถึง 3 พันล้านบาท ทำให้เหลือเงินขยายกิจการน้อย 2) บริษัทมีแผนจะซื้อหุ้น ADO ในส่วนที่เหลืออีก 48.3% จาก TMW มาทำโครงการแนวราบ ใช้เงิน 1 พันล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 4 งวด ความเสี่ยงคือ ต้องกู้เงินอีก 2.3 พันล้านบาท สำหรับการก่อสร้างบ้านแนวราบ หากขายไม่สำเร็จ ก็จะทำให้กระแสเงินสดเกิดปัญหาได้ และ 3) กำไรในงวด 1H56 คาดว่าจะน้อย เพราะส่วนใหญ่โอน 2H56 หากนักลงทุนชอบหลักทรัพย์ที่ทำคอนโดฯ เป็นหลัก แนะนำ RML เพราะกำไรสุทธิปี 55 โดดเด่น และปี 56 ก็มี Backlog และกำไรที่เติบโตดีรออยู่แล้ว P/E ปี 56 ถูกเพียง 4.5 เท่า