ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่หารือเพื่อเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคปหลายบริษัทหลังเกณฑ์มีผลบังคับใช้ 1 พ.ย.55 ด้าน อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ประเดิมบริษัทแรกเข้าจดทะเบียนปีนี้
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าปีหน้าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้เกณฑ์รับหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทเข้ามาหารือว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่เกณฑ์รับหลักทรัพย์ด้วยมาร์เกตแคปที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555
ทั้งนี้ บริษัทแรกที่ใช้เกณฑ์ดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ซึ่งเดิมนั้น ทาง ANAN นั้นจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพราะบริษัทยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน แต่พอตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการออกเกณฑ์ดังกล่าวทางอนันดาจึงย้ายที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดใหญ่แทน จากที่บริษัทมีขนาดมาร์เกตแคปที่ใหญ่
สำหรับการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกเกณฑ์รับหลักทรัพย์ด้วยมาร์เกตแคปนั้น เพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ นั้นมีเกณฑ์รับหลักทรัพย์ด้วยมาร์เกตแคป ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมองว่าหากไม่มีเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียน จากที่บริษัทดังกล่าวจะไปจดทะเบียนในต่างประเทศแทน
“เกณฑ์รับหลักทรัพย์ด้วยมาร์เกตแคปนั้นเพื่อทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคตเข้ามาจดทะเบียนได้ แม้ในช่วงต้นบริษัทจะยังคงมีผลขาดทุนอยู่จากที่จะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่อนาคตนั้น บริษัทดังกล่าวสามารถที่จะสร้างกำไรได้ เข้ามาจดทะเบียนได้ โดยไม่ต้องรอเวลาที่จะทำให้บริษัทมีกำไร โดยขณะนี้ มีหลายบริษัทเข้ามาคุยว่าจะเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคปมีหลากหลายธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในครอบครัวที่จะต้องมีการปรับโครงสร้าง” นายชนิตรกล่าว
สำหรับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคปนั้น จะต้องมีมาร์เกตแคปไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ถึงสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ แต่บริษัทยังมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับบริษัทที่ยื่นเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์กำไรทุกประการ เช่น ต้องมีทุนชำระแล้วหลังไอพีโอ จำนวน 300 ล้านบาท มีผลการดำเนินงาน (Track Record) ต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี การดำเนินงานภายใต้การจัดการของผู้บริการส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมากกว่า 1 ปีก่อนยื่นคำขอ การกระจายการถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 1,000 ราย การบริหารงานการกำกับดูแลกิจการและควบคุมภายใน งบการเงิน และผู้สอบบัญชี การห้ามผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นขายหุ้นและหลักทรัพย์ภายในระยเวลาที่กำหนด (ไซเรนท์พีเรียด) เป็นต้น