ธปท.เตรียมเรียกแบงก์หารือ 3 ธ.ค.นี้ หลังสัญญาณหนี้ครัวเรือนพุ่ง โดยเฉพาะในส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน โดยจะกำชับสถาบันการเงินกำกับดูแลคุณภาพสินเชื่อ กำกับดูแลการโฆษณาที่มีการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความต้องการใช้จ่าย และกู้เงินมากเกินความจำเป็น
วันนี้ (27 พ.ย.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หารือร่วมกันในวันที่ 3 ธ.ค. เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน โดยจะกำชับสถาบันการเงินกำกับดูแลคุณภาพสินเชื่อ กำกับดูแลการโฆษณาที่มีการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความต้องการใช้จ่าย และกู้เงินมากเกินความจำเป็น
ทั้งนี้ วานนี้ (26 พ.ย.) นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 ว่า สถานการณ์ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และไตรมาสแรกของปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 33.6% สินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆ 30.3% และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย 10.3%
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้คืนกลับลดลง เห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น 25.1% คิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท หรือ 21.4% ของเอ็นพีแอลรวมทั้งหมด ขณะที่มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 37.8% หรือ 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวมากเกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตาม โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายตามค่านิยมของสังคม หรือแรงจูงใจจากการโฆษณาขายสินค้า