xs
xsm
sm
md
lg

หนี้บุคคลเน่า ยอดชักดาบพุ่งปรี๊ด 37%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยยอดเอ็นพีแอลของสินเชื่อส่วนบุคคลเทียบ ก.ย.ปีก่อนพุ่งปรี๊ด 37% ยอดแบงก์เน่าสุด 1.06 พันล้านบาท คาดเกิดจากมาตรการยืดเวลาชำระหนี้จากปัญหาน้ำท่วมหมดอายุ ผสมโรงกับสินเชื่อธนวัฏที่ให้แก่ข้าราชการดันยอดรวมสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 15% ด้านบัตรเครดิตไม่น้อยหน้าหนี้เพิ่มขึ้น 11% โตใกล้เคียงกับยอดสินเชื่อเกือบ 10%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศยอดสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับดูแล ล่าสุด เดือน ก.ย.หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป (หนี้เอ็นพีแอล) มีจำนวน 7.38 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 9.38% และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนสูงถึง 37.80% หรือเพิ่มขึ้นแง่ของมูลค่า 2.03 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์มากที่สุด 1.60 พันล้านบาท ตามมาด้วยผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 451 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 20 ล้านบาท

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 2.40 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นทั้งไตรมาสก่อนหน้าและเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 5.15% และ 15.07% วงเงินเพิ่มขึ้น 3.14 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งส่วนนี้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 2.63 หมื่นล้านบาท นอนแบงก์ 8.04 พันล้านบาท แต่สาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 2.95 พันล้านบาท ส่วนจำนวนบัญชีมีทั้งสิ้น 9.53 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 3.62% เทียบไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 7.75% ช่วงเดียวกันปีก่อน

สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ยังได้ประกาศตัวเลขสำคัญของธุรกิจบัตรเครดิต พบว่า หนี้เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตล่าสุด เดือนก.ย.หรือไตรมาส 3 อยู่ที่ 5.40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 3.11% และเพิ่มขึ้น 11.12% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแง่มูลค่าธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 1.20 พันล้านบาท นอนแบงก์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 540 ล้านบาท แต่สาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 657 ล้านบาท

ด้านยอดคงค้างสินเชื่อมีทั้งสิ้น 2.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นไตรมาสก่อนหน้า 4.93 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.23% และเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 1.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 9.56% แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไทย 4.57 หมื่นล้านบาท แต่นอนแบงก์ลดลง 2.60 หมื่นบ้านบาท

นอกจากนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5.52% เพิ่มขึ้น 4.29 พันล้านบาท แต่การเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลงถึง 23.11% ลดลง 3.42 พันล้านบาท ซึ่งต่างกับช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วม ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นหลายเดือนติดต่อกัน ด้านปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศกลับสวนทางเพิ่มขึ้นถึง 28.08% คิดเป็นเงิน 1.32 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้มีการนำครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

แหล่งข่าว ธปท.รายหนึ่ง กล่าวว่า หนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูงถึง 37.80% ขณะที่สินเชื่อโตประมาณ 15% มองว่า ช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางธนาคารพาณิชย์ได้ออกมาตรการชั่วคราวยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า 6-12 เดือน แต่เดือนนี้ก็เริ่มครบกำหนดระยะเวลาผ่อนปรนให้ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนที่ได้รับความเสียหายมากเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ ประกอบกับสินเชื่อธนวัฎที่ให้แก่ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำก็เป็นตัวเร่งสินเชื่อส่วนบุคคลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำให้ในแง่ของมูลค่าไม่มากนัก และเชื่อว่าธนาคารมีกระบวนการติดตามที่ดี จึงสามารถแก้ไขปัญหา และดูแลลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น