xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ผวา NPL หนี้ครัวเรือนพุ่ง รายได้น้อยกว่า 2.5 หมื่น เริ่มค้างเกิน 1 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณเสี่ยง พบภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 25,000 บาทต่อเดือนเริ่มเห็นค้างชำระหนี้เกิน 1 เดือนสูงขึ้นต่อเนื่องกับนอนแบงก์ ด้านแบงก์ก็มีคนขอสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ค้างชำระเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเช่นกัน ห่วงเศรษฐกิจโลก-ไทยชะลอตัวอาจบั่นทอนความสามารถชำระหนี้ คุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป รวมถึงรายได้ของครัวเรือนในอนาคต

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อประจำเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของปี 55 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมากขึ้น หลังจากพบว่า ภาคครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีต่ำถึงปานกลางที่กู้เงินจากบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แล้วมีสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ข้อมูลภาคสถาบันการเงินก็เริ่มเห็นแนวโน้มขยายตัวของสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือน โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เร่งตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนไทย และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของภาคสถาบันการเงินในระยะต่อไปได้

“ประเด็นที่ต้องจับตา และอาจเป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพครัวเรือนในระยะต่อไปได้ คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลงจากการก่อหนี้สินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการเร่งตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้ ปัญหาโลกอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และส่งผ่านมาถึงรายได้ภาคครัวเรือนในอนาคตได้เช่นกัน”

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่า แม้ภาคครัวเรือนในฐานะผู้กู้จะมีก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี สะท้อนจากอัตรารายได้ต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายล่าสุดเดือน ส.ค.ของปีนี้ พบว่า ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.34 เท่าและสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์กำหนด 2.00 เท่า

แม้ปัจจุบัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เกิดปัญหาฟองสบู่ แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.การปรับราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยเฉพาะราคาอาคารชุด ซึ่งปัจจุบันยังเข้าใจได้ว่าราคาอสังหาฯ ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนทั้งจากราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้น เป็นต้น 2.การนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติในภาคอสังหาริมทรัพย์จากมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) และ 3.ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับนี้ยังระบุวา จากการผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินที่ดูแลงานด้านสินเชื่อในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หรือไตรมาสสุดท้าย แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อครัวเรือนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น