xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงหนี้ครัวเรือน ธปท.วอนเลิกโปรโมตเงินกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนควรสร้างพื้นฐานที่ดีให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมขอความเห็นใจสถาบันการเงินอย่าเร่งโปรโมท เพราะคนจะคิดว่าอนาคตยังมีคนให้ยืมตลอด แนะควรออมก่อนใช้อย่างในอดีตดีที่สุด เผยผู้บริหารสถาบันการเงิน-นอนแบงก์ส่วนใหญ่เริ่มกังวลเอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ คาดความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัย-บัตรเครดิตโตอยู่ ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจที่ให้แก่ธุรกิจตอบสนองต่ออุปสงค์ในประเทศขยายตัวดีอยู่

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยอมรับว่าภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนลงมาเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้บ้าง เมื่อเทียบรายได้กับหนี้สินที่มีอยู่ โดยเข้าใจได้ว่าการยืมเงินมีหลากหลายเหตุผล แต่หลักที่สำคัญควรเสริมพื้นฐานที่ดีให้คนมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท.เห็นว่าไม่ควรมีหลักเกณฑ์พิเศษอะไรออกมาควบคุม แต่ควรชี้ให้เห็นความสำคัญของการออมก่อนใช้อย่างในอดีต ซึ่งต่างปัจจุบันที่ใช้ก่อนออม จึงอยากจะเตือนให้สถาบันการเงินอย่าเร่งโปรโมท ทำให้คนจะคิดว่าอนาคตยังมีคนให้ยืมอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี

รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า ธปท.ได้ออกรายงานภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เห็นว่าช่วงไตรมาส 4 ของปี 55 เริ่มมีความกังวลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตจะยังมีคุณภาพสินเชื่อใกล้เคียงระดับเดิม

ขณะเดียวกันประเมินว่าความต้องการสินเชื่อครัวเรือนทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปลายปี อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนทุกประเภทคาดว่ายังคงอยู่ระดับใกล้เคียงไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ตอบสนองต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการสินเชื่อภาพรวมจะไม่สูงเท่ากับช่วงครึ่งแรกของปี เพราะได้มีการลงทุน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยที่เร่งตัวสูงได้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่ความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อธุรกิจโดยรวมใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังต่อปัญหาเอ็นพีแอลอย่างต่อเนื่อง

**ห่วงSMEsถูกกระทบหนักสุดเมื่อขึ้นค่าจ้าง300**
ส่วนรายงานแนวโน้มธุรกิจ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจ พบว่า ความเสี่ยงในระยะต่อไป ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า แม้ปัจจุบันการใช้จ่ายในประเทศยังไม่ถูกกระทบจากการส่งออกที่ลดลง แต่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ขณะที่ประเมินว่านโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่าเป็น 300 บาททั่วประเทศในต้นปีหน้าจะไม่ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานในวงกว้าง เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ขาดแคลนแรงงานและจ่ายค่าแรงสูงกว่าอยู่แล้ว แต่ธุรกิจจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อบริหารจัดการกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นแรงงานเป็นหลักจะได้รับผลกระทบมากสุด ทำให้ธุรกิจบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านและคาดว่าจะมีอีกหลายรายอาจต้องทยอยย้ายฐานการผลิตในระยะต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น