ธปท.จับตาสินเชื่อส่วนบุคคลพิเศษ หลังยอดคงค้างสินเชื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุด เดือน ส.ค.ของปีนี้เพิ่มขึ้น 15.33% หวั่นชาวบ้านขอสินเชื่อใช้จ่ายเกินตัวจนก่อหนี้ครัวเรือนพุ่ง ส่วนปล่อยกู้โหดตามต่างจังหวัด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ระบุการนำมาตรา 5 พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินมาใช้เป็นการให้อำนาจธนาคารกลางเข้าไปดูแลนอนแบงก์ แต่ควรรู้ปัญหาให้ตรงจุดก่อน เพื่อไม่ให้กระทบทั้งระบบ
นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ถือเป็นจุดต้องเข้าไปดูแลแล้ว จึงห่วงว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการขอสินเชื่อส่วนบุคคลไปใช้จ่าย เพื่อซื้อสินค้าประเภทผ่อน 0% ทำให้ ธปท.ติดตามดูอยู่ว่าสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากความต้องการสินค้าเพื่อชดเชยส่วนที่เสียหายจากปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยเกินไป อีกทั้งการจับตาแบบพิเศษ เพราะสินเชื่อส่วนบุคคลต่างกับสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกันในการกู้ยืม
ก่อนหน้านี้ สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ได้รายงานตัวเลขสำคัญของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับล่าสุดเดือน ส.ค.ของปี 55 พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 236,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 31,396 ล้านบาท คิดเป็น 15.33% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งธนาคารพาณิชย์ไทย 25,276 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 9,121 ล้านบาท แต่ในส่วนของสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 3,000 ล้านบาท
ขณะที่จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลมีทั้งสิ้น 9,419,298 บัญชี เพิ่มขึ้น 677,759 บัญชี เพิ่มขึ้น 7.75% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการนอนแบงก์มากที่สุด 383,090 บัญชี ตามมาด้วยธนาคารพาณิชย์ 321,905 บัญชี แต่กลับลดลง 27,236 บัญชีในส่วนของสาขาธนาคารต่างชาติ
ปล่อยกู้โหดยังอยู่ช่วงเก็บข้อมูล
รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงกรณีที่ธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ปล่อยสินเชื่อในอัตราสูงถึง 60% ต่อปีให้แก่ประชาชนตามต่างจังหวัด ซึ่งบางรายทำธุรกิจเหมือนปล่อยกู้สินเชื่อเช่าซื้อ แต่นำสินค้ามาคืนภายในวันเดียวนั้นว่า การนำมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินมาใช้ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนส่วนนี้เป็นเพียงการให้อำนาจ ธปท.ในการเข้าไปดูแลนอนแบงก์ แต่ก่อนจะดำเนินการอะไรต้องดูข้อมูลทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้กระทบทั้งระบบ
“ขณะนี้ยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมทั้งในส่วนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง ธปท.ก็จะเก็บข้อมูลอีกทางหนึ่งเช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าข้อมูลสินเชื่อเพิ่มขึ้นที่มีปัญหาจำนวนเท่าไร และนอนแบงก์ที่ดำเนินการดังกล่าวมีกี่บริษัท เพื่อไม่ให้กระทบสถาบันการเงินทั้งระบบ จึงไม่อยากเร่งทำอะไรไปก่อน ขอรอดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อน”