xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” กำชับแบงก์เข้มโฆษณาสินเชื่อ “รถแลกเงิน” กระตุ้นผู้บริโภคใช้จ่ายเกินตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประสาร” แจงกรณี “หม่อมอุ๋ย” แฉสถาบันการเงินญี่ปุ่น ใช้ช่องว่าง ปว. 58 ปล่อยกู้คิด ดบ.โหด โขกค่าธรรมเนียม 28% โดยใช้บัตรเครดิตบังหน้า แต่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเงินแลกรถ ยอมรับมีความหนักใจ เพราะเป็นเรื่องที่ ปชช. ยอมจ่าย หากเข้าไปคุมมากอาจกระทบความผาสุกในชีวิต แต่ได้กำชับแบงก์พาณิชย์เข้าไปดูแลการโฆษณาสินเชื่อรถแลกเงิน ที่จูงใจ และกระตุ้นผู้บริโภคให้ใช้จ่ายเงินมากจนเกินตัว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า มีสถาบันการเงินจากญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจในไทย และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่แพงกว่าร้อยละ 28 ตามที่ ธปท.กำหนด รวมทั้งธุรกิจบัตรเครดิตที่ใช้บัตรเครดิตบังหน้าแต่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแทน รวมทั้งเรื่องสินเชื่อรถแลกเงินที่เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการออมของสังคมไทย

กรณีดังกล่าว ตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประชุมหารือเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแล และเกี่ยวข้องเพื่อให้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลกระทบต่อความผาสุกของประชาชน โดยจะให้ติดตามเป็นพิเศษในส่วนของบัตรเครดิตที่กฎหมาย ธปท. กำหนดให้เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 20 และสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่เกินร้อยละ 28

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินต่างชาติเหล่านี้ปล่อยกู้อย่างเดียว ไม่ได้รับเงินฝาก จึงไม่ถือเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในอำนาจของ ธปท. ดูแล ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ปว.58) ซึ่งออกมาเพื่อควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัย หรือผาสุกแห่งสาธารณชน โดยกิจการบัตรเครดิตเป็นหนึ่งในกิจการที่ตกอยู่ภายใต้ ปว. 58 เข้ามาดูแล

“ยอมรับว่า มีความหนักใจ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เพื่อผ่อนชำระค่าสินค้า ซึ่งต้องศึกษาขอบเขตว่า ธปท. ทำได้แค่ไหน จึงสั่งให้คณะทำงานศึกษา โดยเห็นว่าการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการเงิน และส่งเสริมการออมเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะหากไปกำกับดูแลมากจะกระทบต่อความผาสุกของประชาชน”

นอกจากนี้ ได้กำชับธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลการโฆษณาสินเชื่อรถแลกเงินที่จูงใจและกระตุ้นผู้บริโภคให้ใช้จ่ายเงินมากจนเกินตัว โดยโฆษณาต้องไม่จูงใจจนมากเกินไป เพราะต้องให้ประชาชนรู้จักการใช้เงินอย่างระมัดระวัง และเก็บออม

ทั้งนี้ ธปท. ให้ความสำคัญกับการที่ธนาคารพาณิชย์ขายผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน เช่น การขายประกันชีวิต และกองทุน รวมทั้งหารายได้จากค่าธรรมเนียม ซึ่งได้ประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้ช่วยกำกับ และติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น