xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า “บาทแข็ง-น้ำมันแพง” แนะ ธปท.ผ่อนนโยบายการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศช. เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 56 เงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันพุ่ง แนะ ธปท.ผ่อนนโยบายการเงินเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของเอกชน และโครสร้างพื้นฐาน หลังจากปีที่ผ่านมา ต้องประสบปัญหาอุทกภัย และปีหน้าอาจต้องรับมือกับภัยแล้งที่จะมีผลต่อภาคเกษตร อีกทั้งยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากมาตรการ QE3 ด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 3 ปีนี้ ว่า การส่งออกติดลบ 3% เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัว 3% มีชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 4.4% โดยมีปัจจัยจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ที่ขยายตัวถึง 6.5% เพิ่มขึ้นจาก 5.6% ในไตรมาส 2 และการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 13.2% ในไตรมาส 3

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.5% การส่งออกอยู่ที่ 5.5% การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 12% การบริโภคครัวเรือนเฉลี่ย 5.2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% สำหรับไตรมาส 4 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวมากกว่า 10% เนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนจีดีพีติดลบถึง 8.9% จากผลอุทกภัย โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2555 จะอยู่ที่ 5.5% จากเดิมที่ตั้งเป้า 15%

ส่วนเศรษฐกิจปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5-5.5% การส่งออกจะขยายตัวได้ 12.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และการส่งออกดีขึ้น การบริโภคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 4% การลงทุนรวมอยู่ที่ 8.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.5-3.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1%

อย่างไรก็ตาม นโยบายทางการเงินควรสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ควรเข้มงวดนโยบายการเงินในเวลานี้ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้เกิดจากการลงทุนเพื่อการขยายกำลังการผลิตของเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการลดต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศ และเป็นปีแรกที่ฟื้นตัวจากเหตุอุทกภัย ส่วนการบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นนั้น เนื่องมาจากโครงการรถยนต์คันแรก หากจะดูปัจจัยที่มาจากเรื่องการลงทุนก็ควรส่งเสริมต่อ และคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในปีหน้า ต้องดูเรื่องต้นทุนอุตสาหกรรม และราคาน้ำมันที่จะปรับสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งในภาคการเกษตร รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลกที่เกิดจากมาตรการ QE3

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2555 และปี 2556 คือ การเร่งรัดการส่งออก ติดตามการแข็งค่าของเงินบาท โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง และขยาดย่อย ส่งเสริมให้นักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ เร่งรัดการลงทุนของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนความเป็นจริง และปรับกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เพื่อรับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า นอกจากนี้ ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนสำคัญๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น