ศูนย์วิจัย “รวงข้าว” มองตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้แนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เปิดทาง “ธปท.” ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อพยุงภาวะ ศก. และเตรียมรับมือ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” ผันผวน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงาน “แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้า : มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย” โดยระบุว่า แม้มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าจะหมดวาระไปแล้ว (ตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย.2555 ที่ผ่านมา) แต่เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในช่วงที่ไม่เพิ่มแรงกดดันมากนักต่อทิศทางราคาพลังงานในประเทศ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าผู้บริโภคในภาพรวม จึงสะท้อนภาพออกมาในลักษณะที่ทยอยปรับเพิ่มจากเดือนก่อนหน้า (MoM) อย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่งนั้นกลไกของกองทุนน้ำมันฯ ก็ยังคงทำหน้าที่ในการบรรเทาแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นระยะๆ ควบคู่ไปกับการเลื่อนช่วงเวลาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานหลายประเภท และการขยายเวลาการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 0.005 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ แนวทางบรรเทาแรงกดดันด้านราคาพลังงานต่อต้นทุนผู้ผลิต และภาระผู้บริโภคของภาครัฐดังกล่าวข้างต้น เมื่อประกอบเข้ากับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลท่ามกลางแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ยังเสี่ยงต่อสถานการณ์พลิกผันของหลายตัวแปร ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2555 จะต่ำลงกว่ากรอบประมาณการเดิม
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 อาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 (ต่ำกว่ากรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.2-3.5) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (ต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.2-2.3) ซึ่งภาพเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าว น่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงรออยู่อีกหลายด้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า แม้แรงกดดันเงินเฟ้อตามประมาณการใหม่จะผ่อนคลายลงกว่ากรอบประมาณการเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน่าจะยืนเหนือระดับร้อยละ 3.0 ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งก็เป็นภาพที่สะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง