xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปี 55 โตได้แค่ 5% จาก 7% แต่เชื่อ “จีดีพี” ยังโตได้ 5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปี 55 โตได้แค่ 5% จาก 7% แต่เชื่อ “จีดีพี” ยังโตได้ 5% เพราะเชื่อว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ดี และรัฐบาลก็รักษาบทบาทการประคองเศรษฐกิจไว้ได้ดีเช่นกัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในปีนี้ลงเหลือ 5% จากล่าสุดคาดไว้ราว 7% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ไว้ที่ 5% เพราะเชื่อว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ดี รัฐบาลก็รักษาบทบาทการประคองเศรษฐกิจไว้ได้ดี เช่น การชะลอการปรับราคาพลังงาน การเข้ามาดูแลราคาสินค้าเกษตร พร้อมกันนั้น ยังได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจาก 3.5% เหลือ 3.3%

ทั้งนี้ ประเมินว่า จีดีพีของไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวราว 8% จากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเทียบกับครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.2% โดยไตรมาส 3/55 คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.3% เทียบกับไตรมาส 2/55 และไตรมาส 4/55 จะเติบโตสูงถึง 12.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่จะหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/55

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังได้ประเมินว่า จีดีพีเทียบไตรมาสต่อไตรมาสอาจมีบางช่วงปรับลดลงจากการส่งออกอ่อนตัวแรง และการสะสมสต๊อกลดลงในภาวะที่ประเทศคู่ค้ายังเศรษฐกิจซบเซา และไม่แน่นอน

ส่วนในปี 56 ประมาณการจีดีพีเติบโต 5% จากช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังมีความเสี่ยง แต่ในเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักน่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยยังรักษาอัตราการเติบโตที่ 5% ไว้ได้ ขณะที่ในประเทศก็ยังได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของการบริโภค และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แม้อัตราการขยายตัวอาจชะลอลงเล็กน้อยจากฐานที่สูงในปีนี้

ด้านเสถียรภาพเศรษกิจของไทยยังไม่น่ากังวล แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยปี 56 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.8% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลฯ 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ขาดดุลฯ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงเกินดุล 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นห่วงอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าสู่ระดับอันตรายก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น