สศช.แถลง “จีดีพี” ไตรมาส 2 ขยายตัว 4.2% ปรับลดเป้า ศก.ทั้งปี จากเดิมที่คาดโต 5.5-6.5% เหลือ 5.5-6.0% โดยลดเป้าส่งออกทั้งปีจากเดิม 15.1% เหลือ 7.3%
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 2/2555 ขยายตัว 4.2% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวเป็นบวก การเร่งขึ้นของสาขาก่อสร้าง การค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร รวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรชะลอตัว และการส่งออกยังคงหดตัว
หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% จากไตรมาสแรกของปี 2555 การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 5.5-6.0% จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมจะขยายตัว 4.8% และ 11.3% ตามลำดับ
ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 7.3% ลดลงจากประมาณการเดิมเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่คาดว่าจะขยายตัว 15.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 2.9-3.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.1% ของ GDP
การประมาณการเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว 5.5-6.0% เทียบกับการขยายตัว 0.1% ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2.9-3.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.1% ของ GDP เทียบกับเฉลี่ย 3.8% และ 3.4% ของ GDP ในปี 2554
ในการแถลงข่าววันที่ 20 สิงหาคม 2555 สศช.ได้ปรับช่วงการประมาณการทางเศรษฐกิจให้แคบลงจาก 5.5-6.5% ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็น 5.5-6.0% ในการประมาณการครั้งนี้ โดยมีเหตุผลที่สำคัญๆ คือ การปรับสมมติฐานการประมาณการ โดยเฉพาะสมมติฐานด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งสมมติฐานด้านราคาส่งออกและนำเข้าซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ความล่าช้าในการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งในประมาณการเดิมคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ภายในครึ่งปีแรก เหตุผลทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 6.0% ลดลง