แบงก์ชาติแนะรัฐควรส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพาราในสต๊อกดีกว่ากักไว้ เพราะช่วยเร่งมูลค่าการส่งออกไทย พร้อมยังไม่วางใจติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อช่วงครึ่งหลังอย่างใกล้ชิด เผยตัวเลขส่งออกขยายได้จริงปีนี้อาจจะอยู่แค่ 4%
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 5.5-6.0% ซึ่งมีค่ากลางประมาณ 5.75% ถือว่าตัวเลขสอดคล้องของ ธปท.ประมาณการไว้ 5.7% ขณะที่ตัวเลขส่งออกไทยที่สภาพัฒน์ลดลงเหลือ 7.3% ในครั้งนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7% เช่นเดียวกัน
“โอกาสที่ตัวเลขส่งออกขยายตัว 7% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละเดือน ซึ่งในอดีตยังไม่ถึง 2.1 หมื่นล้านบาท จึงเป็นการทำงานที่หนักพอควร เพื่อให้ได้ตัวเลขตามเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เห็นว่าความเป็นจริงควรพยายามส่งออกสินค้าเกษตรดีกว่ากักไว้ทั้งข้าว ยางพารา เพราะอะไรที่เราผลิตได้เกินใช้ภายในประเทศอยากให้ราคาดีต้องสนับสนุนการส่งออก เพราะดีมานด์เพิ่ม แต่หากสกัดเหมือนดีมานด์น้อย ทำให้ราคาอ่อนลง ซึ่งมันจะมีความเสี่ยง”
ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการสินค้าบางรายเตรียมขยับราคาสินค้าในช่วงเดือน ก.ย.นี้ หลังจากต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพิ่มขึ้นว่า กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และยังคงติดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเข้าใจดีว่าขณะนี้เงินเฟ้อชะลอตัวส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยในต่างประเทศ แต่เห็นว่าปัจจัยในประเทศยังมีอุปสงค์ และส่งผลให้มีแรงกดดันได้อยู่ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคและการลงทุน จึงจำเป็นต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป
แหล่งข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้มีการประเมินภาพการส่งออกของไทยในหลายกรณี ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกในระดับ 7% นั้น ถือเป็นการประเมินขั้นสูง แต่ขณะนี้โอกาสที่ ธปท.คาดว่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดระดับหนึ่งคือ การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังน่าจะทำได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ทำให้ภาคการส่งออกของไทยปีนี้โตประมาณ 4%.