ธปท. คงเป้าส่งออกทั้งปีที่ 7% เหตุเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตได้ต่อเนื่อง แนะรัฐบาลเร่งการใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านเงินเฟ้อเดือน ก.ค. เพิ่มแตะ 2.73% จากเดิม 2.56% จากราคาอาหารสดที่ปรับขึ้น ยันเสถียรภาพเศรษฐกิจ อยู่เกณฑ์ดี
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าหดตัวถึงร้อยละ 3.9 ด้วยเป็นการหดตัวทั้งในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จึงยังคงประมาณการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 7
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ยังคงสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เชื่อว่าการบริโภค และการลงทุนในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญให้เศรษฐกิจไทยรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.73 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.56 โดยเป็นผลมาจากราคาอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.87 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.92 ตามการชะลอลงของราคาอาหารสำเร็จรูป
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมในเดือน ก.ค. ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลการชำระเงินยังคงเกินดุลตามการไหลเข้าของเงินทุนโดยตรง และการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนชาวต่างชาติ