xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” แนะรัฐเจรจา “ทีพีพี” ต้องรอบคอบ ยอมรับไทยเสียเปรียบภาคการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ผู้ว่าการ “ธปท.” แนะรัฐเจรจาหุ้นส่วน “ทีพีพี” ต้องใช้ความรอบคอบ เพราะมีบางเรื่องที่ไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะภาคการเงิน พร้อมยอมรับสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยได้ก็จริง แต่หากออกไปแข่งขันในต่างประเทศยังเสียเปรียบในด้านฐานทุน และเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว แบงก์พาณิชย์ของไทยยังสู้ไม่ได้

ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในยุค AEC” จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวถึงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด แต่เท่าที่ศึกษาพบบางเรื่องประเทศไทยได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงภาพรวมให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด โดยจะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าส่วนได้ส่วนเสียมีมากน้อยเพียงใด และต้องพิจารณาว่าการเข้าร่วม TPP จะสามารถเชื่อมโยงกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจ หรือ เออีซี ได้อย่างไร แต่ยอมรับการเปิดเออีซีจะเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคได้มากกว่า เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียง และมีความยืดหยุ่น

ส่วน TPP มีข้อแตกต่างด้านขนาดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงิน ที่จะมีการเปิดเสรีภาคสถาบันการเงินมากขึ้น ทำให้เกิดข้อกังวลถึงความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินไทยที่ยังแข็งแกร่งน้อยกว่าสถาบันการเงินของสหรัฐ ซึ่งหากมีการเจรจา TPP ข้อจำกัดของการพัฒนาอาจกลายเป็นอุปสรรคได้ เพราะแม้สถาบันการเงินไทยจะมีความแข็งแกร่งในการรับมือการแข่งขันของสถาบันการเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย แต่หากออกไปแข่งขันในต่างประเทศยังมีข้อเสียเปรียบอยู่ โดยเฉพาะด้านฐานเงินทุน

นายประสาร กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเงินมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้น จะต้องดูแลทั้งทางด้านความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งเชื่อว่าหากมีการกำหนดกรอบเจรจา TPP ประเทศสมาชิกจะต้องให้ความสำคัญเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่หลายประเทศระมัดระวัง

ส่วนความพร้อมของสถาบันการเงินไทยในการเปิดเออีซี ขณะนี้ธนาคารกลางแต่ละประเทศในอาเซียนกำลังหารือร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จะดำเนินกิจการในประเทศสมาชิกอื่น โดยเชื่อว่าในปี 2557-2558 จะเริ่มมีสถาบันการเงินไทยเข้าไปจัดตั้งธนาคารในอาเซียนได้ ก่อนกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2563 ซึ่งมั่นใจว่าสถาบันการเงินไทยทุกแห่งจะสามารถจัดตั้งธนาคารได้ หากพิจารณาตามเกณฑ์กำกับดูแลตามหลักสากล แต่หากพิจารณาจากขนาดของธนาคารยังต้องพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น